คลินิกภาษีขนมไทย

ขนมไทยที่เราคุ้นเคยกันดี นอกจากเป็นของที่มีคุณค่าแล้ว ในเชิงมูลค่า “ขนมไทย” ถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยพยุงฐานะทางเศรษฐกิจในครอบครัวได้ ช่วยท้องถิ่นให้ดีขึ้นด้วยการซื้อหาวัตถุดิบใกล้ตัว ที่สำคัญมากที่สุดก็คือ การเติบโตของตลาดขนมไทยนั้นยังมีโอกาสและช่องทางอีกมากด้วยเอกลักษณ์ความ เป็นไทยและรสชาติแสนอร่อย

รับรองว่าเพียงแต่คุณเติมความรู้เข้าไปในการผลิต ใส่ความคิดสร้างสรรค์ ใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย ขนมไทยจะสามารถสร้างรายได้หลักล้านให้คุณได้อย่างไม่น่าเชื่อ... เอาล่ะ จะทำธุรกิจขนมไทยอย่างไรให้เวิร์ค “เสียภาษีอย่างไรให้ถูกต้อง” รู้ก่อนทำก่อนได้เลย

ดาวน์โหลด

PDF

เปิดใน

Flipbook

ให้คะแนนสินค้านี้

เริ่มต้นกิจการ "ผลิต"

เมื่อสูตรการทำขนมพร้อม ใจพร้อม ลุยทำตลาดขนมไทยกันเลย

อย่างแรกในการประกอบธุรกิจผู้ประกอบการควรกำหนดเป้าหมายว่าเราจะผลิตขนมไทยเพื่อใคร จะผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศหรือส่งขนมไทยส่งออกไปขายต่างประเทศกันดี

แต่อย่างไรก็ดีขั้นตอนแรกก่อนที่จะเริ่มค้าขาย ผู้ประกอบการทุกคนต้อง

  • จดทะเบียนธุรกิจ โดย...
    • กลุ่มเกษตรกรหรือสหกรณ์ จดทะเบียนที่ สำนักงานสหกรณ์จังหวัด
    • วิสาหกิจชุมชน จดทะเบียนที่ สำนักงานเลขานุการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน (กรมส่งเสริมการเกษตร) หรือเกษตรจังหวัด
    • บุคคลธรรมดา จดทะเบียนพาณิชย์หรือทะเบียนร้านค้าที่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด
    • นิติบุคคล จดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัด หรือห้างหุ้นส่วนจำกัดที่ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
    • กลุ่ม OTOP จดทะเบียน ณ ที่ว่าการอำเภอ หรือสำนักงานเขต
  • ขอมีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร: เพื่อใช้ในการยื่นแบบแสดงรายการภาษี การชำระภาษี การหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย การติดต่อราชการกับกรมสรรพากรรวมทั้งการจัดทำเอกสารต่างๆที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การจัดทำใบกำกับภาษี การจัดทำใบเสร็จรับเงิน เป็นต้น
  • จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม: หากผู้ประกอบการมีรายได้จากการขายสินค้าหรือบริการ เกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี แน่นอนว่าคุณต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และมีหน้าที่ต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน (หากไม่เกินก็ขอจดทะเบียนได้เช่นกัน)

เมื่อจะผลิตเพื่อจำหน่ายอย่างจริงจังแล้ว คุณต้องมาเพิ่มความรู้ที่นอกเหนือจากเสน่ห์ปลายจวัก นั่นก็คือ เรื่อง มาตรฐานสินค้าทั้ง GMP และ HACCP ซึ่งเป็นมาตรฐานทางด้านความปลอดภัยทางอาหาร ดำเนินการพิจารณาโดย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

หรือถ้าหากพิจารณาแล้วเห็นทีจะต้องส่งขนมไทยไปโกอินเตอร์ให้ได้ ต้องสนับสนุนเรื่องเทคโนโลยีเพื่อมายืดอายุขนมให้ยาวนานขึ้น ขนมไทยของคุณจะได้ไปอวดโฉมทั่วโลกชนิดไม่แคร์วันเวลากันได้แล้ว

ขนมไทย... แน่นอนว่าผลิตในประเทศไทย แต่หากคุณคิดจะนำเข้าวัตถุดิบบางอย่างจากต่างประเทศ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้ขนมของคุณดูแตกต่างจากผู้ประกอบการเจ้าอื่น คุณต้องเกี่ยวข้องกับกรมศุลกากรแล้วล่ะ โดยคุณต้อง ลงทะเบียนเป็นผู้นำเข้า-ส่งออกตามระบบพิธีการศุลกากรนำเข้าทางอิเล็กทรอนิกส์ (Paperless) กับกรมศุลกากร ซึ่งลงทะเบียนครั้งแรกครั้งเดียวเท่านั้น เพื่อทำ พิธีการนำเข้าทางศุลกากร ตามด่านศุลกากรหรือช่องทางที่นำเข้ามา ได้แก่ ทางอากาศ ทางเรือ ทางบก หรือทางไปรษณีย์ และต้อง จัดทำรายงานภาษีซื้อ และ รายงานสินค้าและวัตถุดิบ ด้วย

**ค้นหาพิกัดอัตราศุลกากรเพิ่มเติมได้ที่ http://igtf.customs.go.th/igtf/th/main_frame.jsp

**ข้อมูลและเอกสารเพิ่มเติมที่ "ผลิต" "นำเข้า"

ถ้าคิดจะ "ส่งออก" ต่างประเทศ

ตลาดต่างประเทศสามารถเพิ่มมูลค่าให้แก่ขนมไทยได้หลายเท่าตัว หากสินค้าของคุณดีจริงโอกาสเป็นเศรษฐีจากขนมไทยก็เรียกได้ว่าไม่ยากเลย เพราะนอกจากความอร่อย วัฒนธรรมไทยที่อยู่ในขนมคือมนต์เสน่ห์ชูโรงสำคัญที่ชาวต่างชาติต่างก็อยากลิ้มลอง

โดยขั้นตอนการส่งออกขนมไทยนั้นก็ไม่ได้ยุ่งยากอย่างที่คิด ถ้าผลิตภัณฑ์ของคุณได้มาตรฐานอยู่แล้วเพียงแต่ผู้ประกอบการ ตรวจสอบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร และ ขอหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า สำนักบริการการค้าต่างประเทศ (กรมการค้าระหว่างประเทศ)

จากนั้นก็ยื่นขอเอกสารการรับรองเพิ่มเติมตามที่ผู้นำเข้าประเทศต้องการแล้วเข้าสู่ พิธีการศุลกากร (หากไม่เคยลงทะเบียนเป็นผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออกมาก่อน ต้องลงทะเบียนฯ กับกรมศุลกากรก่อนส่งออกขนมไทยไปจำหน่ายยังต่างประเทศ) เท่านี้ก็ส่งออกได้สบายๆ แล้ว

เรื่องนี้ต้องขยาย

ขั้นตอนการส่งออกสินค้า

การส่งสินค้าออกจากประเทศไทยต้องผ่านพิธีการส่งออกตามกระบวนการปกติ โดยสินค้าทั้งหมดที่ส่งออกจากประเทศไทยต้องรายงานและผ่านพิธีการทางศุลกากร

บทบาทของกรมศุลกากรในเรื่องการส่งออกสินค้าคือการทำให้แน่ใจว่ามีการ รายงานสินค้าส่งออกจากประเทศไทยตามที่กรมศุลกากรกำหนด และควบคุมเรื่องใบอนุญาตสำหรับสินค้าบางประเภท นอกจากนี้กรมศุลกากรยังทำหน้าที่เก็บข้อมูลการส่งออกเพื่อช่วยให้รัฐบาลและ อุตสาหกรรมต่างๆนำไปใช้ในการกำหนดนโยบายและตัดสินใจในเรื่องต่างๆ

ก่อนบรรทุกสินค้าในเรือหรือเครื่องบินเพื่อการส่งออก กรมศุลกากรต้องได้รับข้อมูลของสินค้าดังกล่าว และอนุญาตให้ส่งออกได้ ข้อมูลการส่งออกส่วนใหญ่ส่งด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ e-Export

เอกสารที่จำเป็นในการยื่นเพื่อดำเนินพิธีการทางศุลกากรเพื่อส่งออกสินค้าประกอบด้วย

  1. ใบขนสินค้าขาออก
  2. บัญชีราคาสินค้า
  3. ใบอนุญาตส่งออกหรือเอกสารอื่นใดสำหรับสินค้าควบคุมการส่งออก (ถ้ามี)
  4. ใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า (ถ้ามี)
  5. เอกสารอื่น ๆ เช่น แค็ดตาล็อก เอกสารแสดงส่วนผสม เป็นต้น

ขั้นตอนการปฏิบัติพิธีการ

  1. การโอนถ่าย และ/หรือ การยื่นข้อมูลใบขนสินค้า: พิธีการส่งออกเริ่มต้นเมื่อผู้ส่งออกหรือตัวแทน ส่งข้อมูลใบขนสินค้าโดยใช้ eb-XML ผ่านระบบ VAN หรืออินเตอร์เน็ตเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของกรมศุลกากร
  2. การตรวจสอบพิสูจน์การสำแดงข้อมูล: ทันทีที่ระบบคอมพิวเตอร์ของกรมศุลกากรได้รับข้อมูลใบขนสินค้าขาออก ข้อมูลจะได้รับจะถูกตรวจสอบ ในกรณีที่ข้อมูลที่ตรวจสอบแล้วไม่ปรากฎข้อผิดพลาดใดๆ ระบบจะออกเลขที่ใบขนสินค้าโดยเชื่อมต่อกับระบบ e-Payment (หากมีภาระภาษีอากร) ต่อจากนั้นระบบจะส่งข้อความตอบกลับไปยังผู้ส่งออกหรือตัวแทน
  3. การชำระภาษีอากร: ในปัจจุบันสามารถชำระได้ 3 วิธี คือ ชำระที่กรมศุลกากร ชำระผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) และชำระที่ธนาคาร
  4. การตรวจและการปล่อยสินค้า: การตรวจและปล่อยสินค้าจากอารักขาของศุลกากรนี้ freight forwarder บรรจุสินค้าในตู้สินค้าและส่งรายงานสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของกรมศุลกากร ข้อมูลจะได้รับจะถูกตรวจสอบ ในกรณีที่ข้อมูลที่ตรวจสอบแล้วไม่มีข้อผิดพลาดใดๆ ระบบจะสร้างเลขที่กำกับการขนย้ายสินค้า และส่งข้อความไปยัง freight forwarder

หลังจากนั้น freight forwarder พิมพ์ใบกำกับการขนย้ายที่ระบุหมายเลข และเคลื่อนย้ายสินค้าไปยังท่าที่ส่งออก ในขั้นนี้ ข้อมูลของสินค้าถูกตรวจสอบความถูกต้องโดยละเอียดเพื่อระบุว่าสินค้าดังกล่าว ต้องผ่านการเปิดตรวจ (Red Line) หรือยกเว้นการตรวจ (Green Line) หากเป็นใบขนฯ ยกเว้นการตรวจจะใช้เวลาน้อยมาก ขณะที่สินค้าที่ต้องเปิดให้ตรวจจะถูกเคลื่อนย้ายเพื่อเตรียมให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรตรวจ

**ข้อมูลและเอกสารเพิ่มเติมที่ "ส่งออก"

เมื่อเกิดรายได้

ยอดขายหรือรายได้ที่คุณได้รับจากธุรกิจขนมไทยนั้น ทำให้คุณจะต้องทำหน้าที่เป็นพลเมืองที่ดี โดยยื่นแบบแสดงรายการภาษีพร้อมชำระภาษีที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของคุณ ได้แก่ ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา/นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม

  • ภาษีเงินได้ เมื่อมีรายได้การขายขนมไทย ทั้งขายในประเทศและส่งออกต่างประเทศ คุณก็มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้ตามรูปแบบธุรกิจ คือ บุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล
  • ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ในการผลิตขนมไทย การขนส่ง ฯลฯ ต้องมีการว่าจ้างแรงงานเข้ามาเกี่ยวข้อง กระบวนการด้านภาษีที่ต้องดำเนินการคือ เมื่อคุณจ่ายเงินเดือน ค่าจ้าง และสวัสดิการให้กับพนักงาน ลูกจ้าง หรือคนงาน ต้องมีการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ทุกครั้ง
  • ภาษีมูลค่าเพิ่ม หากคุณต้องซื้อ/นำเข้าวัตถุดิบ รวมทั้งการซื้อวัสดุอุปกรณ์อื่นๆ เพื่อผลิตขนมไทย ราคาที่คุณซื้อมักบวกภาษีมูลค่าเพิ่มมาแล้ว เท่ากับว่าคุณเป็นผู้เสียภาษีในส่วนนี้ และเมื่อถึงคราวที่จะต้องขายผลผลิตของคุณบ้าง การตั้งราคาขายอาจมีการบวกภาษีมูลค่าเพิ่มเข้าไปได้ ซึ่งลูกค้าของคุณจะกลายเป็นผู้เสียภาษีนี้แทน แต่ที่สำคัญคือคุณต้องออกใบกำกับภาษีหรือบิลเงินสดให้ลูกค้าไว้เป็นหลักฐานด้วย

ทั้งนี้ คุณสามารถยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีต่อกรมสรรพากร ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา ในเขตท้องที่ หรือง่ายๆ เพียงปลายนิ้ว Click

ซึ่งนอกจากการเสียภาษีให้แก่ภาครัฐแล้ว คุณยังสามารถยื่นลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย ถือเป็นประโยชน์ส่วนหนึ่งจากการเสียภาษีอย่างถูกต้อง ตรงตามกำหนดเวลาที่กรมสรรพากรกำหนด

ข่าวดีภาษีน่ารู้

สำหรับผู้ประกอบการที่เป็นวิสาหกิจชุมชน หรือ SMEs จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเป็นกรณีพิเศษ เพื่อช่วยกระตุ้นและส่งเสริมการดำเนินธุรกิจรายย่อยในอีกทางหนึ่ง

ติดตามได้ที่ "คู่มือภาษีสำหรับวิสาหกิจชุมชน"

** สิทธิประโยชน์ทางภาษีของธุรกิจ SMEs

**ข้อมูลและเอกสารเพิ่มเติมที่ "จำหน่าย"

คนไทยที่ดีต้องเสียภาษีเพื่อพัฒนาประเทศ

เอกสารที่เกี่ยวข้อง

ข้อมูลภาษีสินค้า อื่นๆ