คลินิกภาษีน้ำหอม

กลิ่นอันหอมหวนและเสน่ห์อันเย้ายวนของ "น้ำหอม" นั้น ดึงดูดผู้ประกอบธุรกิจในยุคนี้ให้หลงใหล สนใจสร้างรายได้จากผลิตภัณฑ์ประเภทนี้กันมากมาย และอย่างที่ทราบกันอยู่แล้วว่าน้ำหอมจัดเป็นสินค้าราคาสูง ฉะนั้น ผลกำไรที่ตามมาจึงงดงามไม่น้อย

ซึ่งวิธีที่จะทำให้ผลิตภัณฑ์น้ำหอมมีคุณภาพดี รายได้เยี่ยม คือ การหาข้อมูล การทดลองใช้ และพัฒนาสูตรให้เป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ก่อนวางจำหน่าย เหนือสิ่งอื่นใดคือ การศึกษาขั้นตอนการเสียภาษีเพื่อชาติอย่างถูกต้อง เพื่อความราบรื่นและเอื้อประโยชน์ต่อการเติบโตของธุรกิจในอนาคต

ดาวน์โหลด

PDF

เปิดใน

Flipbook

ให้คะแนนสินค้านี้

ขอมีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร
ขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (เมื่อมีรายได้จากการขายเกิน 1.8 ล้านบาท/ปี)
จดทะเบียนพาณิชย์
นำเข้า ผลิต จำหน่าย ส่งออก
ลงทะเบียน Paperlesss จดทะเบียนภาษีสรรพสามิต
- แจ้งวันเวลาทำการผลิต
- แจ้งราคาขาย
- ทำบัญชีประจำวัน และงบเดือนวัตถุดิบ และสินค้าสำเร็จรูป
- ยื่นแบบรายการและชำระภาษีสรรพสามิต
วางจำหน่าย ลงทะเบียน Paperless
ขออนุญาตนำเข้าน้ำหอม (อย.) พรบ.เครื่องสำอาง ขออนุญาตขออนุญาตก่อสร้างโรงงานผลิตน้ำหอม (กรณีใช้เครื่องจักรเกิน 5 แรงม้า หรือใช้คนเกินตั้งแต่ 7 คนขึ้นไป ตาม พ.ร.บ.โรงอุตสาหกรรม) ออกใบกำกับภาษี และจัดทำรายงานภาษี ยื่นคำขอยกเว้นและคืนภาษี
ขั้นตอนพิธีการนำเข้า แจ้งวันเวลาทำการผลิต ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษี ขั้นตอนพิธีการส่งออก
จัดทำรายงานภาษีซื้อ/รายงานสินค้าและวัตถุดิบ การแจ้งราคาขาย
ออกใบกำกับภาษี และจัดทำรายงานภาษี
ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษี ทำบัญชีประจำวันและงบเดือนวัตถุดิบและสินค้าสำเร็จรูป
ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษี

ชำระภาษีสรรพสามิต


ออกใบกำกับภาษี และจัดทำรายงานภาษี


ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษี

กำเนิดความหอม

"น้ำหอม" เครื่องสำอางคู่โต๊ะเครื่องแป้งที่เราใช้กันอยู่ และพบเห็นทั่วไปในท้องตลาด เกิดจากการรวมตัวกันของ ‘น้ำมัน’ และ ‘แอลกอฮอล์’ ผสมกลิ่นสกัดมาจากดอกไม้ในธรรมชาติหรือกลิ่นที่สังเคราะห์ขึ้นมา กลายเป็นสารละลายหอมระเหย ใช้ทาหรือพ่นตามเสื้อผ้าหรือร่างกาย น้ำหอมจะระเหยออกมาพร้อมกับส่งกลิ่นชวนดมออกมาด้วย ซึ่งจะมีหลายกลิ่นและบางกลิ่นเกิดจากการนำกลิ่นดอกไม้หลายชนิดมาผสมกัน

เติมกลิ่นอาย

"น้ำหอม" จัดเป็นเครื่องสำอางที่จำแนกอยู่ในหมวดตามรูปแบบผลิตภัณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดยแบ่งน้ำหอมออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

  • Perfume เป็นน้ำหอมที่มีส่วนผสมของหัวน้ำหอมสูงสุด (หัวน้ำหอม 10–15% แอลกอฮอล์ 85–90% และน้ำ 0–5%) ส่วนใหญ่จะให้กลิ่นที่ติดทนนานกว่า 24 ชั่วโมง
  • Eau de toilette มีส่วนผสมของหัวน้ำหอมในอัตราส่วนที่ค่อนข้างพอดี (หัวน้ำหอม 5–7% แอลกอฮอล์ 75–80% และน้ำ 15–20%) ส่วนใหญ่จะให้กลิ่นที่ติดทนนานประมาณ 8 ชั่วโมง เป็นน้ำหอมที่ได้รับความนิยมมากที่สุด
  • Cologne เป็นน้ำหอมที่มีส่วนผสมของหัวน้ำหอมต่ำมาก (หัวน้ำหอม 2–3% แอลกอฮอล์ 60–65% และน้ำ 30–35%) ส่วนใหญ่จะให้กลิ่นที่อยู่ได้นานประมาณ 1–2 ชั่วโมงเท่านั้น

การทำธุรกิจ "น้ำหอม" ผู้ประกอบการต้องสำรวจความสนใจและศักยภาพของตนเองว่าจะดำเนินธุรกิจไปในทิศทางใด เพื่อการจัดการธุรกิจที่เป็นระบบ

โดยก่อนที่จะเริ่มทำการ "นำเข้า" "ผลิต" "จำหน่าย" หรือ "ส่งออก" สิ่งที่คุณจะต้องทำความเข้าใจและลงมือปฏิบัติ ได้แก่

  • ขอมีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร: เพื่อใช้ในการยื่นแบบแสดงรายการภาษี การชำระภาษี การหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย การติดต่อราชการกับกรมสรรพากรรวมทั้งการจัดทำเอกสารต่างๆที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การจัดทำใบกำกับภาษี การจัดทำใบเสร็จรับเงิน เป็นต้น (เริ่มใช้ 1 ก.พ.55)
  • จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม: หากผู้ประกอบการมีรายได้จากการขายสินค้าหรือบริการ เกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี แน่นอนว่าคุณต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และมีหน้าที่ต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน (หากไม่เกินก็ขอจดทะเบียนได้เช่นกัน)
  • จดทะเบียนพาณิชย์: การประกอบกิจการขายสินค้าอะไร อย่างเดียวหรือหลายอย่างก็ตาม หากคิดรวมทั้งสิ้นในวันหนึ่งขายได้เป็นเงินตั้งแต่ 20 บาทขึ้นไป หรือมีสินค้าดังกล่าวไว้เพื่อขายมีค่ารวมทั้งสิ้นเป็นเงินตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไป ต้องจดทะเบียนพาณิชย์กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
  • ยื่นคำขอจดทะเบียนสรรพสามิต: ภายใน 30 วันก่อนวันเริ่มผลิตน้ำหอม ณ สำนักงานสรรพสามิตพื้นที่ที่สถานที่ผลิตน้ำหอมนั้นตั้งอยู่

หลังจากนั้น... จะนำเข้าน้ำหอมสำเร็จรูป ผลิตเอง จำหน่าย หรือส่งออกขายต่างประเทศก็ง่ายยิ่งกว่า "ฉีดน้ำหอม" เสียอีก

"นำเข้า" น้ำหอมสำเร็จรูป-หัวน้ำหอม

เมื่อมีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและจดทะเบียนพาณิชย์แล้ว ขั้นตอนแรกของการนำเข้าน้ำหอมก็คือ การลงทะเบียนเป็นผู้นำเข้า – ส่งออกตามคู่มือระบบพิธีการศุลกากรทางอิเล็กทรอนิกส์แบบไร้เอกสาร (Paperless) ซึ่งจะทำการลงทะเบียนเฉพาะครั้งแรกเท่านั้นเพื่อให้ระบบจดจำว่าคุณคือผู้ประกอบการนำ-เข้าส่งออก ของกรมศุลกากร จากนั้นคุณก็สามารถส่งข้อมูลเพื่อจัดทำใบขนสินค้าขาเข้า ผ่านระบบพิธีการนำเข้าทางอิเล็กทรอนิกส์ได้

เติมกลิ่นอาย

ขั้นตอนการลงทะเบียนแบบ (Paperless)

  1. กรอกแบบฟอร์มการลงทะเบียน และยื่นเอกสารลงทะเบียนกับเจ้าหน้าที่ ณ ฝ่ายทะเบียน ส่วนทะเบียนและสิทธิพิเศษ สำนักมาตรฐานพิธีการและราคาศุลกากร กรมศุลกากร หรือที่ฝ่ายบริหารงานทั่วไปของสำนักหรือสำนักงานศุลกากร หรือด่านศุลกากรทั่วประเทศ
  2. เจ้าหน้าที่ตรวจสอบแบบคำขอลงทะเบียนและเอกสารหลักฐาน พร้อมบันทึกข้อมูลการลงทะเบียนในระบบพิธีการศุลกากรทางอิเล็กทรอนิกส์แบบไร้เอกสาร

เมื่อเป็นผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออกแล้ว การจะนำเข้าสินค้า "น้ำหอมสำเร็จรูป" หรือ "นำเข้าหัวน้ำหอมหรือส่วนผสมอื่นๆ" คุณจะต้องศึกษาเรื่อง พิกัดศุลกากรที่เกี่ยวข้องกับน้ำหอม เพื่อจดตัวเลข 8 หลักมาใช้ในการประเมินราคาการเสียภาษีอากรตามกฎหมาย

รายการ พิกัดศุลกากร อัตราอากรขาเข้า
น้ำหอม 3303.00.00 30%

**ค้นหาพิกัดอัตราศุลกากรเพิ่มเติมได้ที่ http://igtf.customs.go.th/igtf/th/main_frame.jsp

นอกจากนี้ในการนำเข้าน้ำหอมหรือวัตถุดิบอันเกี่ยวเนื่องกับการทำน้ำหอมเข้ามาผลิตหรือจำหน่ายในประเทศ คุณจะต้องทำการขอใบอนุญาตและหนังสือรับรองจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตาม พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ.2535 ด้วย เพราะ "น้ำหอม" จัดเป็นเครื่องสำอางที่ต้องได้รับอนุญาตและควบคุมการนำเข้านั่นเอง

ทั้งนี้ คุณสามารถชำระภาษีอากรของทุกหน่วยงานผ่านกรมศุลกากร โดย...

  • กรณีน้ำหอมสำเร็จรูป: นอกจากเสียภาษีศุลกากรแล้ว จะต้องเสียภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย โดยให้กรมศุลกากรจัดเก็บแทน ณ ท่าหรือที่ที่นำเข้า และต้องมีใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
  • กรณีส่วนผสมหรือวัตถุดิบ: เสียอากรศุลกากรและภาษีมูลค่าเพิ่มตามปกติ เมื่อเอกสารได้รับการอนุญาตจากทุกหน่วยงานอย่างสมบูรณ์ คุณต้องมีเอกสารใบอนุญาตการนำเข้าประกอบกับการตรวจปล่อยจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อได้รับการตรวจสอบ ระบบจะทำการปล่อยสินค้าอัตโนมัติ คุณสามารถติดต่อโรงพักสินค้าเพื่อออกและนำของออกอารักขาศุลกากรได้จากหน่วยงานที่ศุลกากรกำหนดไว้

การนำเข้าน้ำหอมคุณจะต้อง จัดทำรายงานภาษีซื้อ รวมทั้ง รายงานสินค้าและวัตถุดิบ เพื่อเก็บเป็นหลักฐานใช้ในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีและเสียภาษีตามกฎหมาย

เติมกลิ่นอาย

- รายงานภาษีซื้อ: กำหนดให้ "ผู้ประกอบการจดทะเบียน" จัดทำ เพื่อประโยชน์ในการบันทึกจำนวนภาษีซื้อของกิจการที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนรายอื่นเรียกเก็บในแต่ละเดือนภาษี ภาษีซื้อเกิดขึ้นในเดือนใดเป็นภาษีซื้อของเดือนนั้น

การลงรายการภาษีซื้อ เป็นภาษีซื้อที่เกิดขึ้นเนื่องจาก

  1. การซื้อหรือการนำเข้าซึ่งสินค้าหรือวัตถุดิบ
  2. การซื้อหรือเช่าซื้อหรือนำเข้าซึ่งทรัพย์สิน
  3. การรับฝากขายสินค้า
  4. การรับบริการหรือการจ่ายค่าใช้จ่ายต่างๆ
  5. การเพิ่มราคาสินค้าหรือบริการ
  6. ค่าภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนนำส่งตามแบบแสดงรายการ ภ.พ.36 เนื่องจากจ่ายค่าบริการที่ได้ให้บริการในต่างประเทศ และได้มีการใช้บริการนั้นในประเทศ หรือรับโอนสินค้าหรือบริการที่เคยได้สิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0

- รายงานภาษีขาย: กำหนดให้ "ผู้ประกอบการจดทะเบียน" จัดทำขึ้น เพื่อประโยชน์ในการบันทึกจำนวนภาษีขายของกิจการที่ได้เรียกเก็บจากลูกค้าในแต่ละเดือนภาษี ภาษีขายที่เกิดขึ้นในเดือนใดก็เป็นภาษีขายของเดือนนั้น แบบของรายงานภาษีขายมีลักษณะคล้ายบัญชีแยกประเภทรายได้จากการประกอบกิจการตามกฎหมายว่าด้วยการบัญชี เพียงแต่มีช่อง "จำนวนเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม" เพิ่มขึ้นอีกช่องหนึ่ง

การลงรายการภาษีขาย เกิดขึ้นเนื่องจาก

  1. การขายสินค้าหรือให้บริการในราชอาณาจักร (กรณีการส่งออกภาษีขาย = 0)
  2. การให้เช่าซื้อ
  3. การส่งมอบสินค้าให้ตัวแทนเพื่อขาย (ฝากขาย)
  4. การนำสินค้าหรือบริการไปใช้เพื่อการอื่นใดอันมิใช่เพื่อการประกอบกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
  5. หนี้สูญที่ได้รับคืน
  6. สินค้าขาดจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบ

- รายงานสินค้าและวัตถุดิบ: กำหนดให้ "ผู้ประกอบการจดทะเบียน" จัดทำขึ้นเพื่อแสดงปริมาณสินค้าและวัตถุดิบที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีอยู่ ได้มา และขายไป เนื่องจากการขายสินค้าหรือการผลิต ซึ่งผู้มีหน้าที่จัดทำรายงานประเภทนี้ได้แก่ ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ประกอบกิจการขายสินค้าเท่านั้น (ผู้ประกอบกิจการให้บริการไม่ต้องจัดทำรายงานประเภทนี้)

** ข้อมูลและเอกสารเพิ่มเติมที่ "นำเข้า"

ดำเนินการผลิต "ความหอม’"

คุณต้อง จดทะเบียนภาษีสรรพสามิต ก่อนจะผลิตน้ำหอมออกจำหน่าย (แบบ ภษ.01-04) และทำการ ขออนุญาตผลิตน้ำหอม พร้อม แจ้งวันและเวลาทำการผลิต ตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 นอกจากนี้ยังต้อง แจ้งราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรม (แบบ ภษ.01-44) และจัดทำบัญชีประจำวัน (แบบ ภษ.01-05, 01-06) และ งบเดือนวัตถุดิบและสินค้าสำเร็จรูป (แบบ ภษ.01-42) เพื่อยื่นชำระภาษีของกรมสรรพสามิต ซึ่งแบ่งได้เป็น...

  • ยื่นโดยไม่มีหลักประกัน: ดำเนินการยื่นชำระภาษีก่อนนำสินค้าออกจากโรงอุตสาหกรรม (แบบ ภษ.01-12)
  • กรณียื่นโดยมีหลักประกัน: ดำเนินการยื่นคำขอใช้สิทธิชำระภาษีภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่นำสินค้าออกจากโรงอุตสาหกรรม (แบบ ภษ.01-15) และยื่นแบบ ภษ.01-12 เพื่อชำระภาษีภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่นำสินค้าออกจากโรงอุตสาหกรรม

** ข้อมูลและเอกสารเพิ่มเติมที่ "ผลิต"

"ส่งออก" อย่างเข้าใจภาษี

เช่นเดียวกับผู้นำเข้าน้ำหอมหรือวัตถุดิบเพื่อการผลิตน้ำหอม... ผู้ที่จะส่งออกน้ำหอมจะต้อง ลงทะเบียนเป็นผู้นำเข้า-ส่งออกตามคู่มือระบบพิธีการศุลกากรทางอิเล็กทรอนิกส์แบบไร้เอกสาร (Paperless) ก่อน แต่หากคุณเคยลงทะเบียนตั้งแต่พิธีการนำเข้าแล้ว... ก็ผ่านขั้นตอนนี้ไปได้เลย

จากนั้นให้คุณยื่น คำขอยกเว้นและคืนภาษีสรรพสามิต ได้ที่กรมสรรพสามิต (แบบ ภษ.01-28) และ ส่งข้อมูลเพื่อจัดทำใบขนสินค้าขาออก ผ่านระบบพิธีการส่งทางอิเล็กทรอนิกส์ของกรมศุลกากร พร้อมแนบหลักฐานต่างๆ ให้ครบถ้วน โดยผู้ส่งออกต้องส่งข้อมูลใบขนสินค้าขาออก และส่งข้อมูลใบกำกับการขนย้ายสินค้าทางอากาศยาน พร้อมกันในคราวเดียว

โดยข้อมูลในใบกำกับฯ จะบันทึกรวมกับการบันทึกข้อมูลใบขนสินค้าขาออก เลขที่ใบกำกับฯ ใช้เลขที่เดียวกับใบขนสินค้า ให้ผู้ส่งของออกหรือตัวแทนที่ยื่นขอรับรองใบขนสินค้าขาออกต่องานธุรการ ส่วนบริการศุลกากร 2 ณ อาคารตรวจสินค้าขาออก (CE) ชั้น 2 พร้อมชำระค่าธรรมเนียมการจำลองเอกสารตามอัตราที่กำหนดไว้ในใบแบบ ศ.5 เจ้าหน้าที่ศุลกากรจะพิมพ์ใบขนสินค้าจากระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากร ซึ่งมีข้อความว่า ‘ใบขนสินค้าได้พิมพ์จากระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากร’ พร้อมลงนามรับรอง

ทั้งนี้ คุณต้อง จัดทำรายงานภาษีซื้อ ภาษีขาย และรายงานสินค้าและวัตถุดิบ เพื่อประกอบในการยื่นชำระภาษี และควรตรวจสอบข้อมูลรวมถึงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องของประเทศปลายทางที่นำน้ำหอมเข้าไปจำหน่ายด้วย เพื่อให้ธุรกิจดำเนินไปอย่างราบรื่น

** ข้อมูลและเอกสารเพิ่มเติมที่ "ส่งออก"

"ภาษี" จากการจำหน่ายความหอม

การผลิตน้ำหอมออกจำหน่ายจนมีรายได้เข้าสู่ระบบธุรกิจของคุณแล้ว สิ่งที่คุณต้องทำคือ ยื่นแบบแสดงรายการภาษีพร้อมเสียภาษีที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

  • ภาษีเงินได้ เมื่อมีรายได้การขายผลิตภัณฑ์น้ำหอม ทั้งขายในประเทศและส่งออกต่างประเทศ คุณก็มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้ตามรูปแบบธุรกิจ คือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือ ภาษีเงินได้นิติบุคคล
  • ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ในกระบวนการผลิตน้ำหอม ต้องมีการว่าจ้างแรงงานเข้ามาเกี่ยวข้อง กระบวนการด้านภาษีที่ต้องดำเนินการในขั้นตอนนี้ คือ เมื่อคุณจ่ายเงินเดือน ค่าจ้าง และสวัสดิการให้กับพนักงาน ลูกจ้าง หรือคนงาน ต้องมีการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ทุกครั้ง
  • ภาษีมูลค่าเพิ่ม หากคุณต้องซื้อหรือนำเข้าวัตถุดิบอื่นๆ เพื่อผลิตน้ำหอม เช่น ขวดบรรจุภัณฑ์ ฯลฯ ราคาที่คุณซื้อมักบวกภาษีมูลค่าเพิ่มมาแล้ว เท่ากับว่าคุณเป็นผู้เสียภาษีในส่วนนี้ และเมื่อถึงคราวที่จะต้องขายสินค้าของคุณบ้าง การตั้งราคาขายอาจมีการบวกภาษีมูลค่าเพิ่มเข้าไปได้ ซึ่งลูกค้าของคุณจะกลายเป็นผู้เสียภาษีนี้แทน แต่ที่สำคัญคือคุณต้อง ออกใบกำกับภาษีหรือบิลเงินสด ให้ลูกค้าไว้เป็นหลักฐานด้วย

ทั้งนี้ คุณสามารถยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีต่อกรมสรรพากร ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา ในเขตท้องที่ หรือง่ายๆ เพียงปลายนิ้ว Click

ซึ่งนอกจากการเสียภาษีให้แก่ภาครัฐแล้ว คุณยังสามารถยื่นลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย ถือเป็นประโยชน์ส่วนหนึ่งจากการเสียภาษีอย่างถูกต้อง ตรงตามกำหนดเวลาที่กรมสรรพากรกำหนด

ข่าวดีภาษีน่ารู้

สำหรับผู้ประกอบการที่เป็นวิสาหกิจชุมชน หรือ SMEs จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเป็นกรณีพิเศษ เพื่อช่วยกระตุ้นและส่งเสริมการดำเนินธุรกิจรายย่อยในอีกทางหนึ่ง

ติดตามได้ที่ "คู่มือภาษีสำหรับวิสาหกิจชุมชน"

** สิทธิประโยชน์ทางภาษีของธุรกิจ SMEs

**ข้อมูลและเอกสารเพิ่มเติมที่ "จำหน่าย"

คนไทยที่ดีต้องเสียภาษีเพื่อพัฒนาประเทศ

เอกสารที่เกี่ยวข้อง

ข้อมูลภาษีสินค้า อื่นๆ