คลินิกภาษีน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น

“น้ำมันมะพร้าว” สินค้ายอดฮิตของผู้ประกอบการ ทั้ง OTOP วิสาหกิจชุมชน SMEs กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มสหกรณ์ ฯลฯ เพราะสรรพคุณเพื่อสุขภาพและความงาม ทำให้เป็นสินค้าที่มียอดจำหน่ายติดลมบน สร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ ดังนั้น ผู้ประกอบการธุรกิจประเภทนี้ต้องทำความเข้าใจเรื่อง “การเสียภาษี” ให้ดี เพราะนอกจากจะทำให้ธุรกิจของคุณถูกกฎหมายแล้ว ยังมีสิทธิประโยชน์ทางภาษีอีกหลายอย่างที่คุณไม่ควรพลาด

ดาวน์โหลด

PDF

เปิดใน

Flipbook

ให้คะแนนสินค้านี้

น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น

"น้ำมันมะพร้าว" เป็นน้ำมันพืชที่เก่าแก่ที่สุดอย่างหนึ่งของโลก

  • ตำราอายุรเวทของอินเดีย ได้มีการใช้น้ำมันมะพร้าวเป็นยารักษาโรคมากว่า 4,000 ปี
  • ในประเทศจีน ได้นำน้ำมันมะพร้าวไปใช้ในตำรายาจีนมากว่า 2,000 ปี โดยใช้รักษา 69 โรค
  • ชาวฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันมะพร้าวรายใหญ่ที่สุดในโลกก็ได้ใช้น้ำมันมะพร้าวเป็นยา ทั้งกินและทา
  • คนไทยใช้น้ำมันมะพร้าวตามตำราแพทย์แผนไทย มาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนกลาง

ความมหัศจรรย์จากธรรมชาติของน้ำมันมะพร้าว อันก่อเกิดประโยชน์มากมายมหาศาล ยังใช้รับประทานเพื่อสุขภาพ ทำเครื่องสำอางประทินผิวพรรณและเส้นผม รวมถึงการนำมาทำ "น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น"

สกัดให้ความรู้

น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น = น้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์

"น้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์" คือ น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นโดยไม่ผ่านความร้อน ผลิตจากเนื้อมะพร้าวสด โดย...

  • เป็นน้ำมันมะพร้าวที่บริสุทธิ์ที่สุด
  • สีใสเหมือนน้ำ
  • มีวิตามินอี
  • ไม่ผ่านกระบวนการเติมออกซิเจน
  • มีกรดคลอริกอยู่ประมาณ 54.61% (กรดนี้มีสามารถสร้างภูมิคุ้มกัน เมื่อเรากินน้ำมันมะพร้าวเข้าไป กรดคลอริกจะเปลี่ยนเป็นโมโนกลีเซอไรด์ที่มีชื่อว่า ‘โมโนลอรีน’ ซึ่งเป็นสารตัวเดียวกับที่อยู่ในน้ำนมแม่ที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้กับทารกในระยะ 6 เดือนแรก ในโมโนลอรีนเป็นสารปฏิชีวนะที่ใช้อยู่ในปัจจุบันสามารถฆ่าเชื้อที่ก่อให้เกิดหลอดเลือดแข็งตัวได้)

"น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น" นับเป็นผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทยที่มีกระบวนการผลิตง่าย ไม่ซับซ้อน สามารถทำได้ภายในครัวเรือน ใช้เงินลงทุนต่ำ แต่ให้ผลกำไรสูง เนื่องจากวัตถุดิบหลักสามารถหาซื้อได้ในท้องถิ่น การใช้เครื่องจักรและอุปกรณ์ก็หาซื้อได้ภายในประเทศ

"ภาษี" ของผู้ผลิตน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น

ก้าวแรก...ของการเข้าสู่ระบบภาษีที่ถูกต้อง มีเรื่องที่ผู้ประกอบการผลิตน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นต้องดำเนินการคือ การจดทะเบียนธุรกิจ โดยเลือกจาก จดทะเบียนเป็นสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน SMEs กลุ่ม OTOP บุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการทางภาษีเบื้องต้นกับกรมสรรพากร คือ

- การขอมีเลขและบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากร ตามรูปแบบการจดทะเบียนธุรกิจ ว่าเป็นบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล

- การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (กรณีมีรายได้จากการขายน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น เกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี) ซึ่งเป็นภาษีทางอ้อมประเภทหนึ่งที่เรียกเก็บจากลูกค้าที่เราขายสินค้าหรือบริการให้ ผู้ที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มที่แท้จริงคือลูกค้าเรานั่นเอง

ปัจจุบันกรมสรรพากรกำหนดอัตราการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่ที่ร้อยละ 7 แต่ก็มีบางกิจการที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องจดทะเบียนเพราะเป็นการเพิ่มภาระให้กับประชาชน เช่น กิจการเกี่ยวกับการขนส่ง กิจการค้าพืชผลทางการเกษตร เป็นต้น

เมื่อมีเลขและบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากร พร้อมทั้งได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเสร็จเรียบร้อยแล้ว คุณก็จะเข้าสู่ระบบ/กระบวนการผลิตน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นเพื่อสร้างรายได้เงินล้านต่อไป

สกัดให้ความรู้

เริ่มต้น...จดทะเบียนธุรกิจ

  • กลุ่มเกษตรกรหรือสหกรณ์ จดทะเบียนที่ สนง.สหกรณ์จังหวัด
  • วิสาหกิจชุมชน จดทะเบียนที่กรมส่งเสริมการเกษตร / เกษตรจังหวัด
  • บุคคลธรรมดา จดทะเบียนพาณิชย์หรือทะเบียนร้านค้าที่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด
  • นิติบุคคล จดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดหรือห้างหุ้นส่วนจำกัดที่ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
  • กลุ่ม OTOP จดทะเบียน ณ ที่ว่าการอำเภอ หรือสำนักงานเขต

- เมื่อจัดซื้อวัตถุดิบ รู้ๆ กันอยู่ว่าวัตถุดิบอย่าง "มะพร้าว" นั้น อุดมสมบูรณ์พอที่จะให้คุณเลือกมาผลิต "น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น" อยู่แล้ว ซึ่งการซื้อวัตถุดิบภายในประเทศจะทำให้คุณได้สินค้าดี ราคาน่าคบหา ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตของคุณไม่สูงจนเกินไป

แต่วัตถุดิบและวัสดุอุปกรณ์ที่คุณต้องใช้ ทั้งมะพร้าว เครื่องจักร ภาชนะบรรจุ ฉลากต่างๆ จะมีภาษีมูลค่าเพิ่มติดมาให้คุณรับภาระภาษีอยู่ด้วยเสมอ ดังนั้น เมื่อผลิตเสร็จเรียบร้อยแล้วคุณสามารถบวกภาษีส่วนนี้เข้าไปรวมอยู่ในราคาสินค้าได้ ลูกค้าของคุณก็จะเป็นผู้เสียภาษีส่วนนี้แทนคุณโดยอัตโนมัติ...

แต่อ๊ะๆ คุณต้อง ออกใบกำกับภาษี ให้ลูกค้าของคุณด้วยนะ

สกัดให้ความรู้

เชื่อไหม...?

จะทำน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น (แบบหมักธรรมชาติ) แค่ตั้งวางไว้ในบ้านก็ได้น้ำมันน้ำมันมะพร้าว 100% แล้วนะ

ทั้งนี้ คุณสามารถตั้งวางมะพร้าวไว้ในบ้านอุณหภูมิปกติ ทุกขั้นตอนการทำต้องสะอาดทุกอย่าง (ถ้าไม่สะอาดจะไม่ได้น้ำมันบริสุทธิ์สกัดเย็น 100%) และต้องใช้มะพร้าวแก่แบบสมบูรณ์ ไม่งอก ไม่ใกล้เสีย

ตามไปดูกลเม็ดเคล็ดลับ วิธีทำน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น ง่ายๆ ที่บ้านได้

แต่ถ้าคุณต้องการสร้างมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์ของคุณด้วยการ นำเข้าวัตถุดิบ จากต่างประเทศ...ไม่ว่าจะเป็นมะพร้าว เครื่องจักร ภาชนะบรรจุ ฯลฯ คุณจะต้องเกี่ยวข้องกับระบบของกรมศุลกากร ได้แก่

  • การลงทะเบียนเข้าสู่ระบบพิธีการนำเข้าทางอิเล็กทรอนิกส์แบบไร้เอกสาร (Paperless) ในครั้งแรก
  • ดำเนินการตามระบบพิธีการนำเข้าทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Import) เพื่อนำเข้าวัตถุดิบ/ เครื่องจักร/วัสดุอุปกรณ์จากต่างประเทศ ทั้งนี้ ควรศึกษาพิกัดอัตราภาษีศุลกากรของสินค้าที่จะนำเข้าให้ดี เพื่อการเสียภาษีอย่างถูกต้องแม่นยำ เช่น
    • เครื่องขูดและเครื่องคั้นกะทิมะพร้าว จัดเข้าพิกัดฯ 8479.20.10 อัตรา 1% VAT 7% (อัตราตามมาตรา 12)
    • มะพร้าวทั้งลูก จัดเข้าพิกัดฯ 0801.12.00 อัตรา 60% VAT 0%
    • กรณีนำเข้าจากประเทศกัมพูชา เรียกเก็บอากรมะพร้าวทั้งลูก ดังนี้
      1. ร้อยละ 20 สำหรับอัตราในโควตา
      2. ร้อยละ 54 สำหรับอัตรานอกโควตา

ซึ่งหากคุณไม่ได้นำเข้า แต่ได้จัดซื้อสินค้าแค่ในประเทศ ก็ต้องติดต่อกรมสรรพากร เพื่อรายงานภาษีที่ซื้อสินค้าและวัตถุดิบในประเทศ พร้อมยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีกับกรมสรรพากร ตามลักษณะกลุ่มธุรกิจที่ได้จดทะเบียนไป

โดยที่การจัดซื้อวัตถุดิบทั้งภายในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศล้วนมีมูลค่าในฐานะต้นทุนการผลิตทั้งสิ้น ดังนั้น คุณต้องจัดทำรายงานภาษีซื้อ และรายงานสินค้าและวัตถุดิบ

สกัดสารให้ความรู้

สิทธิประโยชน์ทางภาษี

ประโยชน์ของการ จัดทำรายงานภาษีซื้อ และรายงานสินค้าและวัตถุดิบ จะมีต่อผู้ประกอบการอย่างคุณ เพราะตามกฎหมายกำหนดไว้ว่า "ผู้มีหน้าที่เสียภาษี การเสียภาษีให้เสียจาก ภาษีขายหักภาษีซื้อ ถ้าภาษีขายน้อยกว่าภาษีซื้อ ผู้ประกอบการมีสิทธิถือเป็นเครดิตในเดือนถัดไป หรือขอคืนเป็นเงินสดได้"

นอกจากนี้ "มะพร้าวทั้งลูก" ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลัก จะได้รับการ ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81(1)(ก) เนื่องจากเป็นการขายพืชผลทางการเกษตร และวัตถุพลอยได้จากพืชด้วยการจัดทำ หรือปรุงแต่งโดยวิธีการอื่น หรือรักษาสภาพไว้เพื่อมิให้เสียเพื่อการขายปลีก

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น คุณก็ยังต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับวัสดุอุปกรณ์ และเครื่องจักรอื่นๆ ที่ไม่ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย เช่น ขวดบรรจุภัณฑ์ ฉลากสินค้า เป็นต้น

**ข้อมูลและเอกสารเพิ่มเติมที่ "นำเข้า"

และแล้วก็... วางจำหน่าย

ด้วยคุณภาพของน้ำมันมะพร้าวที่ดี มีความใส กลิ่นหอมโดยไม่มีกลิ่นเหม็นเปรี้ยว-หืน ทำให้ง่ายต่อการรับประทาน ซึ่งวงการแพทย์และนักโภชนาการสมัยใหม่ต่างยอมรับแล้วว่า น้ำมันมะพร้าวเป็นน้ำมันที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพที่สุดในโลก

ด้วยคุณสมบัติโดดเด่นที่คงความเป็นธรรมชาติไว้สูงเพื่อให้เป็นน้ำมันที่ดีที่สุดต่อสุขภาพอย่างแท้จริง ทำให้น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นสามารถแตกหน่อต่อยอดไปได้ดีในธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีช่องทางจำหน่ายหลายทาง อาทิ

  • จำหน่ายเพื่อใช้อุปโภคและบริโภคโดยตรง
  • เป็นส่วนประกอบสำหรับสินค้าเวชภัณฑ์ และเวชสำอาง
  • จำหน่ายเพื่อใช้สำหรับให้บริการธุรกิจสปา ความงาม
  • มุ่งไกล...ส่งออกไปต่างถิ่น

หากคุณต้องการส่งออก (Export) น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นไปจำหน่ายยังต่างประเทศ คุณจะต้อง ผ่านระบบพิธีการส่งออกทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Export) ตามข้อกำหนดแผนผังพิธีการศุลกากรขาออก (กรณีเคยลงทะเบียนผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออกแบบ Paperless มาแล้ว หากไม่เคยลงทะเบียนต้องลงทะเบียนก่อน ) เพื่อดำเนินการส่งออกสินค้าไปจำหน่ายยังต่างประเทศ ผ่าน ทางเรือ ทางรถยนต์ ทางอากาศ หรือทางไปรษณีย์ เมื่อผ่านระบบตรวจสอบ คุณ หรือชิปปิ้ง หรือตัวแทนออกของรับอนุญาต (Customs Broker) ต้องส่งข้อมูลเพื่อจัดทำใบขนสินค้า จากนั้นจึงเข้าสู่การบรรจุสินค้า และผ่านช่องทางในการขนส่งสินค้า

ในการจัดทำข้อมูลใบกำกับการขนย้ายสินค้าเข้าระบบ e-Export จะใช้เลขที่ใบขนสินค้าขาออกในการส่งข้อมูล เมื่อได้เลขที่ใบกำกับการขนย้ายสินค้าแล้ว จึงทำการขนย้ายสินค้าไปยังท่าเรือ หรือด่านศุลกากร หรือสนามบินที่ส่งออก

**ข้อมูลและเอกสารเพิ่มเติมที่ "ส่งออก"

ทั้งนี้ ไม่ว่าคุณจะวางจำหน่ายในประเทศ หรือส่งออกต่างประเทศ ภารกิจที่คุณต้องทำคือ จัดทำรายงานภาษีซื้อ รายงานภาษีขาย และรายงานสินค้าและวัตถุดิบ เพื่อใช้ประกอบการยื่นบบแสดงรายการเสียภาษี เพราะหลังจากธุรกิจของคุณสร้างรายได้ให้พอกพูนขึ้นแล้ว ขั้นตอนสำคัญลำดับสุดท้ายว่าด้วยเรื่องภาษีคือ การยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษี อันเป็นหน้าที่ที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย

- ภาษีเงินได้ เมื่อมีรายได้การขายน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น ทั้งขายในประเทศและส่งออกต่างประเทศ คุณก็มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้ตามรูปแบบธุรกิจ คือ บุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล

- ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ในการผลิตน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น การบรรจุ การขนส่ง ฯลฯ ต้องมีการว่าจ้างแรงงานเข้ามาเกี่ยวข้อง กระบวนการด้านภาษีที่ต้องดำเนินการคือ เมื่อคุณจ่ายเงินเดือน ค่าจ้าง และสวัสดิการให้กับพนักงาน ลูกจ้าง หรือคนงาน ต้องมีการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ทุกครั้ง

- ภาษีมูลค่าเพิ่ม หากคุณต้องซื้อ/นำเข้าวัตถุดิบ รวมทั้งวัสดุอุปกรณ์อื่นๆ ที่เกี่ยวกับกระบวนการผลิตน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น ราคาที่คุณซื้อมักบวกภาษีมูลค่าเพิ่มมาแล้ว เท่ากับว่าคุณเป็นผู้เสียภาษีในส่วนนี้ และเมื่อถึงคราวที่จะต้องขายผลผลิตของคุณบ้าง การตั้งราคาขายอาจมีการบวกภาษีมูลค่าเพิ่มเข้าไปได้ ซึ่งลูกค้าของคุณจะกลายเป็นผู้เสียภาษีนี้แทน แต่ที่สำคัญคือคุณต้อง ออกใบกำกับภาษีหรือบิลเงินสด (กรณีคุณเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม) ให้ลูกค้าไว้เป็นหลักฐานด้วย

ทั้งนี้ คุณสามารถยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีต่อกรมสรรพากร ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา ในเขตท้องที่ หรือง่ายๆ เพียงปลายนิ้ว Click

ซึ่งนอกจากการเสียภาษีให้แก่ภาครัฐแล้ว คุณยังสามารถยื่นลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย ถือเป็นประโยชน์ส่วนหนึ่งจากการเสียภาษีอย่างถูกต้อง ตรงตามกำหนดเวลาที่กรมสรรพากรกำหนด

ข่าวดีภาษีน่ารู้

สำหรับผู้ประกอบการที่เป็นวิสาหกิจชุมชน หรือ SMEs จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเป็นกรณีพิเศษ เพื่อช่วยกระตุ้นและส่งเสริมการดำเนินธุรกิจรายย่อยในอีกทางหนึ่ง

ติดตามได้ที่ "คู่มือภาษีสำหรับวิสาหกิจชุมชน"

** สิทธิประโยชน์ทางภาษี ของธุรกิจ SMEs

**ข้อมูลและเอกสารเพิ่มเติมที่ "จำหน่าย"

คนไทยที่ดีต้องเสียภาษีเพื่อพัฒนาประเทศ

เอกสารที่เกี่ยวข้อง

ข้อมูลภาษีสินค้า อื่นๆ