คลินิกภาษีเครื่องประดับแก้วคริสตัล

ปัจจุบันเรื่องความสวยความงามกลายเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตคนเราไปแล้ว ไม่ว่าจะเพศไหน วัยใดล้วนให้ความใส่ใจกับภาพลักษณ์ภายนอกของตนเองทั้งสิ้น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับความงามจึงค่อนข้างไปได้ดีในตลาด รวมถึงเครื่องประดับอย่าง "แก้วคริสตัล" ด้วย

ความงามของดีไซน์ ประกอบกับฝีมือช่างชั้นเลิศ ทำให้เครื่องประดับประเภทนี้มีราคาสูง ให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าและงดงามแก่ผู้ประกอบการ ซึ่งรายได้งามๆ นี้ย่อมมีความเกี่ยวพันกับการเสียภาษีอย่างแน่นอน

ดาวน์โหลด

PDF

เปิดใน

Flipbook

ให้คะแนนสินค้านี้

ภาพรวมการจัดเก็บภาษีผลิตภัณฑ์ดอกไม้ประดิษฐ์
ตามขั้นตอนการนำเข้า ผลิต จัดจำหน่ายในประเทศ และส่งออกต่างประเทศ

กระบวนการ หน่วยงาน
จัดเก็บภาษี
ภาษีที่จัดเก็บ ขั้นตอนสำคัญ
การเปิดกิจการ
กรมสรรพากร
  - การขอมีเลขบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากร
- จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

กรมศุลกากร
จัดเก็บภาษีสรรพสามิต แทนกรมสรรพสามิต และภาษีมูลค่าเพิ่มแทนกรมสรรพากร
ภาษีศุลกากร
(นำเข้า)
- การลงทะเบียนเข้าสู่ระบบพิธีการนำเข้าทางอิเล็กทรอนิคส์ (e-Import) (เฉพาะการนำเข้าครั้งแรก)
- การผ่านพิธีการนำเข้าทางอิเล็กทรอนิกส์
การนำเข้า
กรมสรรพสามิต
ภาษีสรรพสามิต
(ศุลกากรจัดเก็บแทน)
- การชำระภาษีสรรพสามิต

กรมสรรพากร
ภาษีมูลค่าเพิ่ม
(ศุลกากรจัดเก็บแทน)
- การจัดทำรายงานภาษี
- การยื่นแบบแสดงรายการ (ใบขนฯ)
การผลิต และจำหน่ายในประเทศ
กรมสรรพสามิต
ภาษีสรรพสามิต - การจดทะเบียนภาษีสรรพสามิต
- การแจ้งการผลิตและการขาย
- การชำระภาษีสรรพสามิต

กรมสรรพากร
ภาษีเงินได้
ภาษีหัก ณ ที่จ่าย
ภาษีมูลค่าเพิ่ม
- การจัดทำรายงานภาษี/บัญชี
- การยื่นแบบแสดงรายการ
การส่งออก
ต่างประเทศ

กรมสรรพสามิต
กรมสรรพสามิต - ขอยื่นคำขอยกเว้นและคืนภาษี

กรมศุลกากร
ภาษีศุลกากร (ส่งออก) - การผ่านพิธีการส่งออกทางอิเล็กทรอนิคส์ (e-Export)

กรมสรรพากร
ภาษีเงินได้
ภาษีหัก ณ ที่จ่าย
ภาษีมูลค่าเพิ่ม
- การจัดทำรายงานภาษี/บัญชี
- การยื่นแบบแสดงรายการ

เจียระไน... คริสตัล

คริสตัล (Crystal) คือแก้วที่ผ่านกรรมวิธีผลิตและเจียระไนด้วยฝีมือช่างชั้นเลิศ ดังนั้น คริสตัลจึงมีราคาแพง ด้วยเอกลักษณ์การตัดเหลี่ยม ตัดมุมแก้วสะท้อนแสงระยิบระยับเหมือน อัญมณีชั้นเลิศ คริสตัลทำจากแก้วคุณภาพสูงซึ่งล้วนมีเนื้อละเอียดและแข็งแรงทนทานกว่า แก้วน้ำที่เราใช้ดื่มทั่วไป

เจียระไนความรู้

ตามรอยคริสตัล

คริสตัลเป็นผลผลิตทางศิลปะตั้งแต่ ค.ศ.1676 ด้วยฝีมือของ "จอร์จ ราเวนสคอฟ" ศิลปินชาวอังกฤษ และเพื่อนๆ ที่ได้ค้นพบว่าถ้านำคริสตัลมาเจียระไนแล้วมันจะกลายเป็นสิ่งที่วิเศษมหัศจรรย์ จากนั้นศิลปะคริสตัลก็เริ่มขยายไปทั่วยุโรป แต่ถ้าพูดถึงศิลปะและอัญมณีที่ทำจากแก้ว เริ่มตั้งแต่สมัย 4,000 ปีก่อนคริสต์ศตวรรษ โดยพบหลักฐานว่า ชาวอียิปต์หลอมแก้วเป็นที่ใส่น้ำหอมขวดเล็กๆ ที่งดงาม จากนั้นจึงค่อยๆ กลายเป็นอุตสาหกรรมสำคัญ โดยในช่วงศตวรรษที่ 13-15 เป็นช่วงที่มีการนำเทคโนโลยีและการออกแบบมาทำให้แก้วแข็งแรงและสวยงามขึ้น

กิจการทำแก้วเฟื่องฟูมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะที่เมืองเวนิซ ประเทศอิตาลี กลายเป็นศูนย์กลางของการทำแก้ว สำหรับบริษัทที่ทำเครื่องแก้วคริสตัลชั้นนำของโลกปัจจุบันได้แก่ วอเตอร์ฟอร์ด ในไอร์แลนด์ และโรกัสกา ในสโลเวเนีย ส่วนคริสตัลที่เป็นเครื่องประดับวางโชว์ในตู้กระจก ได้แก่ของ สวารอฟองออสเตรีย

ก้าวสู่ขั้นตอนการผลิต

"แก้วคริสตัล" จัดเป็นเครื่องประดับเทียมประเภทหนึ่ง ซึ่ง "เครื่องประดับเทียม" ในที่นี้หมายถึง เครื่องประดับอัญมณีเทียมเลียนแบบเครื่องประดับอัญมณีแท้ ได้แก่ ต่างหู แหวน สร้อย กำไล และเข็มกลัด นั่นเอง

ซึ่งก่อน "เครื่องประดับแก้วคริสตัล" จะเผยความงามออกมาให้เราได้เห็นนั้น จะต้องผ่านกระบวนการผลิตที่ใช้วัตถุดิบต่างๆ มาผสมผสาน หลอม เพื่อละลายเป็นเนื้อเดียวกันในเตาเผาที่มีอุณหภูมิสูง ซึ่งขบวนการผลิตแก้วล้วนมีความละเอียดอ่อนและซับซ้อนมาก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งแหล่งที่มาของวัตถุดิบที่มีทั้งในและนอกประเทศ วัตถุประสงค์ที่เน้นผลิตเพื่อส่งออก รวมทั้งการถูกจัดอยู่ในสินค้าประเภท "ฟุ่มเฟือย" ทำให้ธุรกิจเครื่องประดับแก้วคริสตัลเกี่ยวข้องกับเรื่องภาษีอย่างหลากหลายของทุกกรมภาษี ทั้งกรมศุลกากร กรมสรรพสามิต และกรมสรรพากร

ทั้งนี้ ลักษณะเด่นของธุรกิจการผลิตเครื่องประดับเทียมของไทยสรุปได้ดังนี้

  • เป็น "การผลิตเพื่อการส่งออก"
  • เครื่องประดับเทียมที่เห็นวางจําหน่ายในประเทศ ส่วนใหญ่เป็นสินค้านําเข้าจากต่างประเทศมากกว่าสินค้าที่ผลิตในประเทศ
  • ผู้ผลิตเครื่องประดับเทียมในประเทศเป็นผู้ผลิตขนาดกลางและขนาดย่อมเกือบทั้งหมด
  • ผลิตเพื่อการส่งออกกว่าร้อยละ 80 ของยอดจําหน่าย (มีเงื่อนไขของ BOI)
  • แหล่งผลิตจะกระจุกตัวอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล

เจียระไนความรู้

ตามรอยแหล่งวัตถุดิบ

นำเข้า
    • เพชรพลอยสังเคราะห์ ผงเงิน ผงทอง ผงโรเดียม และชิ้นส่วนประกอบต่างๆ
    • เครื่องจักรที่ใช้ในการผลิต ได้แก่ เครื่องอัดแม่พิมพ์ยาง เครื่องหล่อโลหะ เครื่องขัดเงาและฝน และเครื่องชุบทอง/โรเดียม
    จัดซื้อในประเทศ
    • โลหะที่ใช้ทําตัวเรือน ได้แก่ ดีบุก พลวง ตะกั่ว

และเมื่อตัดสินใจเข้าสู่ธุรกิจความงามแห่งแก้วคริสตัลแล้ว คุณต้อง...

  • จดทะเบียนพาณิชย์ กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ภายใน 30 วันนับตั้งแต่เริ่มประกอบกิจการ
  • ขอมีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร เพื่อใช้ในการยื่นแบบแสดงรายการภาษี การชำระภาษี การหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย การติดต่อราชการกับกรมสรรพากร รวมทั้งการจัดทำเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การจัดทำใบกำกับภาษี การจัดทำใบเสร็จรับเงิน เป็นต้น
  • จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นภาษีที่เก็บจากการขายสินค้าหรือบริการในแต่ละขั้นตอนการผลิตและจำหน่าย ทั้งที่ผลิตภายในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ ดังนั้น หากคุณมีรายได้จากการขายสินค้าเกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี คุณมีหน้าที่ต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนกับกรมสรรพากร (หากไม่เกินก็ขอจดทะเบียนเพื่อเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนกับกรมสรรพากรได้) )
  • จดทะเบียนภาษีสรรพสามิต เครื่องประดับแก้วคริสตัลถือเป็นสินค้าที่มีลักษณะเป็นการฟุ่มเฟือย (Luxury Excise) ได้รับการกำหนดในพระราชบัญญัติพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 ดังนั้น หากผู้ประกอบอุตสาหกรรมจะผลิตหรือนำเข้าเครื่องประดับแก้วคริสตัล... คุณมีหน้าที่เสียภาษีสรรพสามิต ต้องจดทะเบียนภาษีสรรพสามิตภายใน 30 วันก่อนเริ่มผลิตสินค้า

ตามมาด้วย การแจ้งวันและเวลาทำการผลิต โดยคุณต้องแจ้งวันเวลาทำการปกติและวันเวลาหยุดทำการของโรงอุตสาหกรรม ณ สำนักงานสรรพสามิตพื้นที่/สาขา ให้ทราบเป็นหนังสือ ก่อนวันเริ่มผลิต ทั้งยังต้อง แจ้งราคาขาย ณ โรงงาน จัดทำบัญชีและงบเดือน ชำระภาษีสรรพสามิต พร้อมทั้ง จัดทำรายงานภาษีซื้อ รายงานภาษีขาย และรายงานสินค้าและวัตถุดิบ เพื่อใช้ประกอบการยื่นแบบแสดงการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มกับกรมสรรพากรต่อไปด้วย

เจียระไนความรู้

  • รายงานภาษีซื้อ เอกสารหลักฐานประกอบการลงรายงาน คือ "ใบกำกับภาษี"
  • รายงานภาษีขาย เอกสารหลักฐานประกอบการลงรายงาน คือ "สำเนาใบกำกับภาษี"
  • รายงานสินค้าและวัตถุดิบ เอกสารหลักฐานประกอบการลงรายงาน คือ "สำเนาใบกำกับภาษี" และ "ใบกำกับภาษี"

โดยการลงรายการให้ลงภายใน 3 วันทำการ นับแต่วันที่ได้มาหรือจำหน่ายสินค้าออกไป

**ข้อมูลและเอกสารเพิ่มเติมที่ “ผลิต”

เมื่อต้องใช้ของ "นำเข้า"

อย่างที่บอกไว้ข้างต้นว่า วัตถุดิบที่จะประกอบกันขึ้นเป็นเครื่องประดับแก้วคริสตัลหรือเครื่องประดับเทียมอื่นๆ นั้น มีหลายสิ่งที่คุณอาจต้อง "นำเข้า" จากต่างประเทศ ทำให้คุณต้องเสียภาษีอากรและภาษีสรรพสามิตสินค้า ซึ่งภาษีในส่วนนี้กรมศุลกากรจะทำหน้าที่จัดเก็บแทนกรมสรรพากร และกรมสรรพสามิต ณ ด่านศุลกากรที่นำสินค้าเข้า

เจียระไนความรู้

สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร

ภารกิจหลักของกรมศุลกากร นอกเหนือจากการจัดเก็บภาษีอากร (สินค้านำเข้า-ส่งออก) แล้ว ยังให้การสนับสนุนผู้ประกอบการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้วย โดยอาศัยมาตรการทางภาษีซึ่งให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรใน 3 ลักษณะคือ การคืนอากร การชดเชยค่าภาษีอากร และ การยกเว้นอากร

โดยที่สิทธิประโยชน์ของการยกเว้นอากรนั้นมีอยู่ 4 ประเภท ได้แก่

  • คลังสินค้าทัณฑ์บน
  • เขตปลอดอากร
  • การส่งเสริมการลงทุน (BOI)
  • เขตประกอบการค้าเสรี

แต่ก่อนที่คุณจะนำเข้าวัตถุดิบ หรือแม้แต่เครื่องประดับคริสตัลหลากหลายดีไซน์ จากต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักรนี้ได้ คุณต้องเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน (ต้องทำการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มมาแล้ว) แล้วจึงลงทะเบียนเป็นผู้ผ่านพิธีการศุลกากรทางอิเล็กทรอนิกส์แบบไร้เอกสาร (Paperless) เพื่อขอเป็นผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออกกับกรมศุลกากร โดยทำการลงทะเบียนในครั้งแรกเท่านั้น ซึ่งต่อไปหากคุณจะส่งออกเครื่องประดับแก้วคริสตัลไปยังต่างประเทศก็ไม่ต้องลงทะเบียนอีก

เมื่อลงทะเบียนแล้วคุณก็สามารถเข้าสู่กระบวนการของการผ่านพิธีการนำเข้าทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ ทั้งนี้ คุณต้องตรวจสอบ พิกัดศุลกากรสินค้า ที่คุณนำเข้ามาด้วยเพื่อใช้คำนวณภาษีอากรขาเข้า เช่น พิกัดแก้วคริสตัล พิกัดดีบุก พิกัดทองเหลือง พิกัดพลอย มุก เงิน เป็นต้น

**ค้นหาพิกัดอัตราศุลกากรเกี่ยวกับเครื่องประดับแก้วคริสตัลได้ที่ http://igtf.customs.go.th/igtf/th/main_frame.jsp

พร้อมทั้งต้องทำการ ชำระภาษีสรรพสามิต จัดทำรายงานภาษีซื้อ และรายงานสินค้าและวัตถุดิบ เพื่อประกอบการยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มกับกรมสรรพากรต่อไป

เจียระไนความรู้

กรมศุลกากร จัดเก็บอัตราอากรขาเข้าเครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณที่เป็นของเทียม ร้อยละ 60 และได้ปรับลดอัตราอากรขาเข้าของกระดุมข้อมือเชิ้ตและสตัด และวัตถุดิบที่นําเข้ามาใช้ในการผลิตเครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณที่เป็นของเทียมลง เหลือเพียงร้อยละ 20 ตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นไป

* วัตถุดิบอื่นๆ ที่ใช้ในการผลิต กรมศุลกากรได้จัดเก็บอัตราอากรขาเข้า ดังนี้

- ผงเงิน อัตราอากรขาเข้าร้อยละ 1
- ผงทอง เกลือทอง อัตราอากรขาเข้าร้อยละ 0
- ผงโรเดียม อัตราอากรขาเข้าร้อยละ 5
- เพชรพลอยสังเคราะห์ อัตราอากรขาเข้าร้อยละ 0

* เครื่องจักรที่ใช้ในการผลิต กรมศุลกากรได้จัดเก็บอัตราอากรขาเข้า ดังนี้

- เครื่องหล่อโลหะ และส่วนประกอบ อัตราอากรขาเข้าร้อยละ 5
- เครื่องมือกลสําหรับเจียระไน ขัดมันโลหะ อัตราอากรขาเข้าร้อยละ 5
- เครื่องจักร และเครื่องอุปกรณ์สําหรับการชุบด้วยไฟฟ้า อัตราอากรขาเข้าร้อยละ 5

**ข้อมูลและเอกสารเพิ่มเติมที่ “นำเข้า”

วางจำหน่ายทั้งในและนอกประเทศ

ความต้องการเครื่องประดับเทียมในประเทศส่วนใหญ่ นิยมเครื่องประดับเทียมนําเข้าจากสหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ เป็นหลัก แม้ว่าจะมีผู้ผลิตภายในประเทศ แต่ส่วนใหญ่ต่างมุ่งเน้นการผลิตเพื่อส่งออกเป็นหลัก

- ช่องทางการจําหน่าย

  • ผ่านตัวแทนจําหน่ายในประเทศ หรือเป็นการรับจ้างผลิตตามแบบของผู้ว่าจ้าง ส่วนเครื่องประดับเทียมที่มีคุณภาพ (ส่วนใหญ่มักนําเข้าจากต่างประเทศ) จะจําหน่ายในศูนย์การค้า และห้างสรรพสินค้าต่างๆ
  • ตลาดส่งออก ผู้ผลิตจะจําหน่ายผ่านตัวแทนจําหน่ายในต่างประเทศ เพื่อกระจายสินค้าต่อไป

- ธุรกิจส่งออก
เมื่อส่งออกสินค้า คุณต้องดำเนินการเหมือนขั้นตอนการนำเข้า โดยเฉพาะต้องเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน (ยื่นจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม) ยกเว้นไม่ต้องลงทะเบียน Paperless แต่หากไม่เคยลงทะเบียน Paperless คุณต้องลงทะเบียนก่อน แล้วจึงมาถึงขั้นตอนการผ่านพิธีการใบขนสินค้าขาออกในระบบ e-Export

"แก้วและเครื่องแก้ว" นั้นเป็นสินค้าตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ที่ผู้ประกอบอุตสาหกรรมอาจขอชำระภาษีภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่นำสินค้าออกจากโรงอุตสาหกรรม หรือคลังสินค้าทัณฑ์บนโดยมีหลักประกันได้

ซึ่งลักษณะสินค้าแก้วและเครื่องแก้วที่กรมสรรพสามิตจัดเก็บภาษีแก้วและเครื่องแก้ว มีอัตราภาษีตามพระราชบัญญัติพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 ตามมูลค่าร้อยละ 30 แต่ปัจจุบันกระทรวงการคลังได้ประกาศลดอัตราการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตลงเหลือตามมูลค่าร้อยละ 15

เจียระไนความรู้

การส่งสินค้าออกไปยังต่างประเทศ

  • กรมสรรพสามิต จะจัดเก็บภาษีสรรพสามิต
    ผ่านขั้นตอน - ขอยื่นคำขอยกเว้นและคืนภาษี ณ ที่ทำการศุลกากร หรือตัดบัญชีผ่านธนาคาร ระบบจะออกเลขที่ชำระอากรในใบขนส่งสินค้า กรณีสินค้ายกเว้นอากร ระบบจะออกเลขที่ยกเว้นอากรในใบขนสินค้าขาออกโดยอัตโนมัติ เมื่อได้เลขที่ใบกำกับการขนย้ายสินค้าแล้วคุณจะขนย้ายสินค้าไปยังท่าหรือสนามบินที่ส่งออก
  • กรมศุลกากร จะจัดเก็บภาษีศุลกากร (อากรขาออก)
    ผ่านขั้นตอน - การผ่านพิธีการส่งออกทางอิเล็กทรอนิคส์ (e-Export)
  • กรมสรรพากร จะจัดเก็บภาษีเงินได้ ภาษีหัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่ม
    ผ่านขั้นตอน - การจัดทำบัญชี (พ.ร.บ.การบัญชี พ.ศ.2543) รายงานภาษีซื้อ รายงานภาษีขาย และรายงานสินค้าและวัตถุดิบ

- "ภาษี" จากการจำหน่ายและส่งออก
การผลิตเครื่องประดับแก้วคริสตัลออกจำหน่าย ไม่ว่าในประเทศหรือส่งออกต่างประเทศ จนมีรายได้เข้าสู่ระบบธุรกิจของคุณ สิ่งที่คุณต้องทำคือ ยื่นแบบแสดงรายการภาษีพร้อมเสียภาษีที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

  • ภาษีเงินได้ เมื่อมีรายได้จากการขายเครื่องประดับแก้วคริสตัล คุณก็มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้ตามรูปแบบธุรกิจ คือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือภาษีเงินได้นิติบุคคล

  • ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ในกระบวนการผลิตเครื่องประดับแก้วคริสตัล ต้องมีการว่าจ้างแรงงานเข้ามาเกี่ยวข้อง กระบวนการด้านภาษีที่ต้องดำเนินการในขั้นตอนนี้ คือ เมื่อคุณจ่ายเงินเดือน ค่าจ้าง และสวัสดิการให้กับพนักงาน ลูกจ้าง หรือคนงาน ต้องมีการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ทุกครั้ง

  • ภาษีมูลค่าเพิ่ม หากคุณต้องซื้อหรือนำเข้าวัตถุดิบอื่นๆ เพื่อการผลิตเครื่องประดับแก้วคริสตัล ราคาที่คุณซื้อจะบวกภาษีมูลค่าเพิ่มมาแล้ว เท่ากับว่าคุณเป็นผู้เสียภาษีในส่วนนี้ และเมื่อถึงคราวที่จะต้องขายสินค้าของคุณบ้าง การตั้งราคาขายอาจมีการบวกภาษีมูลค่าเพิ่มเข้าไปได้ ซึ่งลูกค้าของคุณจะกลายเป็นผู้เสียภาษีนี้แทน แต่ที่สำคัญคือคุณต้องออกใบกำกับภาษีหรือบิลเงินสดให้ลูกค้าไว้เป็นหลักฐานด้วย

ทั้งนี้ คุณสามารถยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีต่อกรมสรรพากร ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา ในเขตท้องที่ หรือง่ายๆ เพียงปลายนิ้ว Click

ซึ่งนอกจากการเสียภาษีให้แก่ภาครัฐแล้ว คุณยังสามารถยื่นลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย ถือเป็นประโยชน์ส่วนหนึ่งจากการเสียภาษีอย่างถูกต้อง ตรงตามกำหนดเวลาที่กรมสรรพากรกำหนด

ข่าวดี... ภาษีน่ารู้

สำหรับผู้ประกอบการที่เป็นวิสาหกิจชุมชน หรือ SMEs จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเป็นกรณีพิเศษ เพื่อช่วยกระตุ้นและส่งเสริมการดำเนินธุรกิจรายย่อยในอีกทางหนึ่ง

ติดตามได้ที่ "คู่มือภาษีสำหรับวิสาหกิจชุมชน"

** สิทธิประโยชน์ทางภาษีของธุรกิจ SMEs

**ข้อมูลและเอกสารเพิ่มเติมที่ “จำหน่าย” “ส่งออก”

มีรายได้ครั้งหน้า...อย่าลืมเสียภาษีเพื่อพัฒนาประเทศนะ

เอกสารที่เกี่ยวข้อง

ข้อมูลภาษีสินค้า อื่นๆ