คลินิกภาษีตุ๊กตาไม้

ในการประกอบกิจการนอกเหนือจากความถนัดในวิชาชีพแล้ว สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือ ความรัก เฉกเช่น “ธุรกิจตุ๊กตาไม้” ที่ผู้ประกอบการหลายรายต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า หลงรักงานไม้ตั้งแต่วัยเยาว์ จากความชอบแปรรูปมาสู่งานศิลปะที่สร้างอาชีพ สร้างรายได้ อีกทั้งยังได้สืบสานงานหัตถกรรมแบบไทยให้คงไว้ยังรุ่นลูกรุ่นหลานอีกด้วย

แต่เรื่องที่ไม่อาจะละเลยได้นั่นคือ การศึกษาเรื่องภาษี เพื่อเรียนรู้ขั้นตอนการเสียภาษีในระหว่างจัดตั้งธุรกิจและหลังจัดตั้ง ธุรกิจที่ถูกต้อง ถือเป็นการทำหน้าที่พลเมืองที่ดีในทุกๆ ปี ให้ภาษีที่เราเสียไปเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจ และนำไปพัฒนาชาติบ้านเมือง

ดาวน์โหลด

PDF

เปิดใน

Flipbook

ให้คะแนนสินค้านี้

การนำเข้า การผลิต จำหน่าย การส่งออก
จดทะเบียนพาณิชย์กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
ขอมีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร
จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (เมื่อมีรายได้จากการขายตุ๊กตาไม้เกินกว่าปีละ 1.8 ล้านบาท) กับกรมสรรพากร
ลงทะเบียน Paperless ออกใบกำกับภาษี
(กรณีจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม)
ลงทะเบียน Paperless
ขั้นตอนพิธีการส่งออก
ขออนุญาตนำเข้าไม้ ขออนุญาตส่งออกฯ
ขั้นตอนพิธีการนำเข้า จัดทำรายงานภาษี
(กรณีจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม)
ขอยกเว้นและคืนภาษี
จัดทำรายงานภาษี ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ จัดทำรายงานภาษี
ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษี ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม
(กรณีจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม)
ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษี

ก้าวของ "การผลิต" และ "จัดจำหน่าย"

ตุ๊กตาไม้หรืองานการแกะสลักไม้นั้นเป็นหัตถกรรมทำมือที่คนทั่วไปรู้จักกันเป็นอย่างดี และถือเป็นเอกลักษณ์ที่แสดงถึงตัวตนคนไทยในแต่ละภาคและพื้นที่ ด้วยรูปแบบฝีมือและลวดลายที่สะท้อนวิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณี และสังคม ตุ๊กตาไม้แกะสลักส่วนใหญ่ผลิตมาจากไม้เนื้ออ่อนภายในประเทศ เช่น ไม้มะม่วง ไม้จามจุรี (ฉำฉา/ก้ามปู) ไม้สัก และอื่นๆ แต่สำหรับไม้สักนั้นในปัจจุบันมีพระราชบัญญัติคุ้มครอง และมีราคาแพงมาก จึงไม่นิยมนำมาผลิตตุ๊กตาไม้แกะสลัก ยกเว้นประเภทเศษไม้สัก เช่น กิ่ง ราก จึงจะนำมาแกะสลักเป็นตุ๊กตาไม้

เกร็ดความรู้

ผลิตภัณฑ์ตุ๊กตาไม้แกะสลักนั้นสามารถแยกรูปแบบออกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ ตุ๊กตาไม้แกะสลักรูปคน ตุ๊กตาไม้แกะสลักรูปสัตว์ เช่น ม้า สุนัข แมว ปลา ฯลฯ และไม้แกะสลักอื่นๆ เช่น เครื่องใช้ในครัวเรือน (จาน ชาม ถ้วย ช้อน ถาด ฯลฯ) ชนิดของผลิตภัณฑ์ตุ๊กตาไม้แกะสลัก

  1. ผลิตภัณฑ์ที่ใช้สีธรรมชาติ ซึ่งผลิตภัณฑ์ประเภทนี้จะไม่มีการตกแต่งสีใดๆ โดยให้สีไม้ของแต่ละประเภทไม้นั้นๆ เป็นตัวผลผลิต เช่น ตุ๊กตาไม้จากไม้จามจุรีก็จะแสดงลวดลายของเนื้อไม้จามจุรี เป็นต้น เพียงแต่ผู้ผลิตใช้วัสดุเคลือบเงา (แลคเกอร์ใสหรือแลคเกอร์ด้าน) เพื่อเป็นการถนอมไม้
  2. ผลิตภัณฑ์ที่ใช้สีตกแต่ง ซึ่งผลิตภัณฑ์ประเภทนี้จะทำการตกแต่งด้วยสีต่างๆ เพื่อความสวยงาม และสีโทนร้อนและสีโทนเย็น คือ ถ้าเป็นตุ๊กตาไม้สีโทนร้อนจะเป็นลักษณะตัวการ์ตูนที่มิได้เลียนแบบตามสรีระจากคนหรือสัตว์ ส่วนตุ๊กตาไม้สีโทนเย็นจะเป็นตุ๊กตาไม้ที่เลียนแบบรูปร่างหรือสรีระที่เหมือนจริง

ก่อนจะผลิตตุ๊กตาไม้คุณต้องจดทะเบียนพาณิชย์กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ภายใน 30 วันนับแต่เริ่มประกอบกิจการ (ผู้ประกอบกิจการหัตถกรรมหรืออุตสาหกรรมไม่ว่าอย่างใดๆ อย่างเดียวหรือหลายอย่างก็ตาม และขายสินค้าที่ผลิตได้ คิดราคารวมทั้งสิ้นในวันหนึ่งวันใดเป็นเงินตั้งแต่ 20 บาทขึ้นไป หรือในวันหนึ่งวันใดมีสินค้าที่ผลิตได้มีราคารวมทั้งสิ้นตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไป ต้องจดทะเบียนพาณิชย์) และขอมี เลขและบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากร ซึ่งปัจจุบันฐานข้อมูลนี้ ได้ถูกเชื่อมโยงกับ กรมสรรพากร สำนักงานประกันสังคม และกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการในการติดต่อกับหน่วยงานราชการทั้ง 3 หน่วย

เรื่องที่ควรดำเนินการลำดับถัดไปคือ การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หากคุณมีรายได้จากการขายตุ๊กตาไม้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี หรือหากไม่เกินแต่ต้องการเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน หรือคาดว่าจะทำการนำเข้าหรือส่งออกสินค้าของคุณ ก็สามารถจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้เช่นกัน โดยมีสิทธิยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ภายในกำหนด 6 เดือนก่อนวันเริ่มประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการ

เรื่องของภาษีในขั้นตอนนี้ไม่ยุ่งยาก เพียงแค่คุณต้องจัดทำ รายงานภาษีขาย รายงานภาษีซื้อ และรายงานสินค้าและวัตถุดิบ และเก็บรักษาหลักฐานเพื่อใช้ในการยื่นเสียภาษี ตามมาตรา 87 และ 87/3 แห่งประมวลรัษฎากร

**ข้อมูลและเอกสารเพิ่มเติมที่ “ผลิต”

ส่งออกตุ๊กตาไม้

ผู้ที่จะส่งออกตุ๊กตาไม้ไปต่างประเทศได้ คือ ผู้ที่เป็นผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออกของกรมศุลกากร ดังนั้น สิ่งแรกที่คุณต้องทำคือ ลงทะเบียนเป็นผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออกตามคู่มือระบบพิธีการศุลกากรนำเข้าทางอิเล็กทรอนิกส์แบบไร้เอกสาร (Paperless) เพื่อส่งข้อมูลจัดทำใบขนสินค้าขาออก ผ่านระบบ Paperless พร้อมแนบหลักฐานต่างๆ ให้ครบถ้วน

ตุ๊กตาไม้จัดเข้าพิกัดอัตราอากรขาออก ภาค 3 ประเภทที่ 5 (ข) (1) ยกเว้นอากร การบรรจุสินค้าต้องดำเนินการโดยผู้รับผิดชอบการบรรจุ เช่น Freight Forwarders Agent เป็นต้น ควรปรึกษา หรือ ติดต่อ ตัวแทนออกของ (Customs Broker) ดูแลให้ ซึ่งสถานที่ในการบรรจุจะต้องได้รับการอนุญาตจากกรมศุลกากร

ทั้งนี้ คุณควรตรวจสอบข้อมูลและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องของประเทศปลายทางที่นำเข้าไปด้วย เพื่อให้ธุรกิจดำเนินไปอย่างราบรื่น และต้อง จัดทำรายงานภาษีซื้อ รายงานภาษีขาย และรายงานสินค้าและวัตถุดิบ เพื่อใช้ประกอบการยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มต่อไป

เกร็ดความรู้

กรณีเกิดการนำเข้า

สิ่งที่คุณต้องทำคือ
  • ลงทะเบียนเป็นผู้นำเข้า-ส่งออกตามคู่มือระบบพิธีการศุลกากรนำเข้าทางอิเล็กทรอนิกส์แบบไร้เอกสาร (Paperless)
  • ศึกษาประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การนำไม้และไม้แปรรูปรวมทั้งสิ่งประดิษฐ์ เครื่องใช้ หรือสิ่งอื่นใดที่ทำด้วยไม้เข้ามาในราชอาณาจักร ตามแนวชายแดน จังหวัดตาก และจังหวัดกาญจนบุรี พ.ศ. 2548 ลว. 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 (ไม้ซุงท่อนและไม้แปรรูป ประเภทไม้สัก ไม้ยาง และไม้ที่มีชนิดตรงกับไม้หวงห้ามตามบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกา กำหนดไม้หวงห้าม พ.ศ. 2530 เป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร ตามแนวชายแดน จังหวัดตากและจังหวัดกาญจนบุรี)
  • ติดต่อกรมศุลกากรเพื่อผ่านพิธีการนำเข้า โดยมีเอกสารดังนี้
    • บัญชีราคาสินค้า (Invoice)
    • บัญชีรายละเอียดบรรจุหีบห่อ (Packing List)
    • ใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (C/O) หรือมีหลักฐานการอนุญาตให้ส่งออกของประเทศที่ส่งออก, ใบเบิกทาง, หนังสือกำกับสิ่งประดิษฐ์เครื่องใช้หรือสิ่งอื่นใดบรรดาที่ทำด้วยไม้หวงห้าม
    • ติดต่อโรงพักสินค้าเพื่อออกของและนำของออกอารักขาศุลกากร

โดยทุกขั้นตอนสามารถตรวจสอบโดยใช้ระบบ e-Tracking ซึ่งคุณต้องจัดเก็บและรักษาเอกสารหลักฐานและข้อมูลไม่ว่าในสื่อรูปแบบใดๆ เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปีนับแต่วันที่ส่งข้อมูล

ทั้งนี้...

ตุ๊กตาไม้ จัดอยู่ในพิกัด 4421.90.99 ของที่ทำด้วยไม้ (อื่นๆ ) อัตราอากรขาเข้า 20%

**ค้นหาพิกัดอัตราศุลกากรเพิ่มเติมได้ที่ http://igtf.customs.go.th/igtf/th/main_frame.jsp

รวมทั้งคุณต้อง จัดทำรายงานภาษีซื้อ และรายงานสินค้าและวัตถุดิบ เพื่อประกอบการยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มต่อไปด้วย

**ข้อมูลและเอกสารเพิ่มเติมที่ “นำเข้า” “ส่งออก”

จัดการกับ "เรื่องภาษี" อย่างไร

เมื่อมีผลกำไรเข้ามายังธุรกิจตามอัตราที่กรมสรรพากรกำหนด ผู้ประกอบการจะต้องทำหน้าที่เป็นพลเมืองที่ดี โดยยื่นแบบแสดงรายการภาษี ได้แก่ ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา/นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อแสดงแก่กรมสรรพากร นอกจากการเสียภาษีให้แก่ภาครัฐแล้ว ผู้ประกอบการยังสามารถยื่นลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย ซึ่งถือเป็นประโยชน์ส่วนหนึ่งจากการเสียภาษีอย่างถูกต้อง ตรงตามกำหนดเวลาที่กรมสรรพากรกำหนด

- ภาษีเงินได้ เมื่อมีรายได้จากการขายตุ๊กตาไม้ คุณก็มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้ตามรูปแบบธุรกิจ คือ บุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล

- ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ในการขึ้นรูป แกะสลัก ขนส่ง หรือขั้นตอนอื่นๆ ของการผลิตตุ๊กตาไม้ คุณต้องมีการว่าจ้างแรงงานเข้ามาเกี่ยวข้อง กระบวนการด้านภาษีที่ต้องดำเนินการคือ เมื่อคุณจ่ายเงินเดือน ค่าจ้าง และสวัสดิการให้กับพนักงาน ลูกจ้าง หรือคนงาน ต้องมีการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ทุกครั้ง

- ภาษีมูลค่าเพิ่ม หากคุณต้องนำเข้าไม้ ซื้อวัตถุดิบ รวมทั้งวัสดุอุปกรณ์อื่นๆ ที่เกี่ยวกับกระบวนการผลิต เช่น สิ่ว สี แลคเกอร์ ฯลฯ ราคาที่คุณซื้อจะบวกภาษีมูลค่าเพิ่มมาแล้ว เท่ากับว่าคุณเป็นผู้เสียภาษีในส่วนนี้ และเมื่อถึงคราวที่จะต้องขายตุ๊กตาไม้ของคุณบ้าง การตั้งราคาขายอาจมีการบวกภาษีมูลค่าเพิ่มเข้าไปได้ ซึ่งลูกค้าของคุณจะกลายเป็นผู้เสียภาษีนี้แทน แต่ที่สำคัญคือคุณต้อง ออกใบกำกับภาษีหรือบิลเงินสด ให้ลูกค้าไว้เป็นหลักฐานด้วย

ทั้งนี้ คุณสามารถยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีต่อกรมสรรพากร ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา ในเขตท้องที่ หรือง่ายๆ เพียงปลายนิ้ว Click

ซึ่งนอกจากการเสียภาษีให้แก่ภาครัฐแล้ว คุณยังสามารถยื่นลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย ถือเป็นประโยชน์ส่วนหนึ่งจากการเสียภาษีอย่างถูกต้อง ตรงตามกำหนดเวลาที่กรมสรรพากรกำหนด

**ข้อมูลและเอกสารเพิ่มเติมที่ “จำหน่าย”

ข่าวดี... ภาษีน่ารู้

สำหรับผู้ประกอบการที่เป็นวิสาหกิจชุมชน หรือ SMEs จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเป็นกรณีพิเศษ เพื่อช่วยกระตุ้นและส่งเสริมการดำเนินธุรกิจรายย่อยในอีกทางหนึ่ง

ติดตามได้ที่ "คู่มือภาษีสำหรับวิสาหกิจชุมชน"

** สิทธิประโยชน์ทางภาษีของธุรกิจ SMEs

ทำตาม "หน้าที่" ช่วยกันเสียภาษีเพื่อพัฒนาประเทศ

เอกสารที่เกี่ยวข้อง

ข้อมูลภาษีสินค้า อื่นๆ