คลินิกภาษีอัญมณี

"อัญมณี" ทรัพยากรธรรมชาติที่ทรงคุณค่าด้วยคุณสมบัติหลัก 3 ประการ ได้แก่ ความงาม ความคงทนถาวร และความหายาก ยิ่งหายาก ยิ่งงดงาม ยิ่งทวีมูลค่า ซึ่งคนไทยมีความชำนาญมีฝีมือการรังสรรค์อัญมณีและเครื่องประดับได้อย่าง ประณีตงดงามไม่แพ้ชาติใดในโลก

ดาวน์โหลด

PDF

เปิดใน

Flipbook

ให้คะแนนสินค้านี้

นำเข้า ผลิตและจำหน่าย ส่งออก
จดทะเบียนการค้า/จดทะเบียนพาณิชย์ กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
ขอมีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร
จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (กรณีมีรายได้จากการขายเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี)
ลงทะเบียน Paperless
ขั้นตอนพิธีการนำเข้า
จัดทำรายงานภาษี
ยื่นแบบภาษีเงินได้
ยื่นแบบภาษีมูลค่าเพิ่ม
ออกใบกำกับภาษี
(ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม)
จัดทำรายงานภาษี
(ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม)
ยื่นแบบภาษีเงินได้
ยื่นแบบภาษีมูลค่าเพิ่ม
(ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม)
ลงทะเบียน Paperless
ขั้นตอนพิธีการส่งออก
ขอยกเว้น/ขอคืนภาษี
จัดทำรายงานภาษี
ยื่นแบบภาษีเงินได้
ยื่นแบบภาษีมูลค่าเพิ่ม

"อัญมณี" มูลค่าที่มากกว่าความสวยงาม

ในธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับ มีห่วงโซ่ที่เชื่อมร้อยกันหลายขั้นกว่าจะสำเร็จออกมาเป็นเครื่องประดับสวยๆ มูลค่าสูง สร้างรายได้ให้กับเจ้าของธุรกิจ เริ่มตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำ คือ การทำเหมืองแร่/เหมืองพลอย ขั้นต่อมาหรืออุตสาหกรรมกลางน้ำ ได้แก่ การค้าและการเพิ่มมูลค่าให้กับพลอยดิบ เช่น การเผาหรือหุงพลอย การเจียระไน จนมาถึงอุตสาหกรรมปลายน้ำ คือ การจัดจำหน่าย และส่งออก

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันแหล่งพลอยคุณภาพในประเทศไทยหาได้ยากมากแล้ว ธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับของไทยจึงอยู่ในอุตสาหกรรมกลางน้ำและปลายน้ำเป็นส่วนใหญ่ ผู้ที่เข้าสู่ธุรกิจนี้จึงมักจะเน้นการนำเข้า จำหน่าย และส่งออกเป็นหลัก ซึ่งเส้นทางสายนี้คุณสามารถเรียนรู้ที่จะเริ่มต้นธุรกิจและชำระภาษีอย่างถูกต้องได้

เหมืองความรู้

ว่าด้วยเรื่อง "อัญมณี"

อัญมณี หมายถึง แร่ หรือหิน หรือสารอนินทรีย์ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ หรือได้มาจากสิ่งมีชีวิต (เช่น มุก ปะการัง อำพัน เป็นต้น) หรือสารที่สังเคราะห์ให้มีส่วนประกอบทางเคมี กายภาพ และทางแสงเหมือนแร่ธรรมชาติ ซึ่งอัญมณีจะต้องมีคุณสมบัติหลัก 3 ประการ คือ ความงาม ความคงทนถาวร และความหายาก

ทั้งนี้ คนส่วนใหญ่จะใช้อัญมณีเป็นเครื่องประดับตกแต่งในร่างกายเพื่อเสริมบารมีและเป็นมงคลแก่ชีวิต สามารถเป็นมรดกตกทอดถึงลูกหลาน และยิ่งนานวันมูลค่าของสินค้ายิ่งเพิ่มขึ้น

นับหนึ่งธุรกิจ "อัญมณี"

ขั้นแรกของการเริ่มต้นธุรกิจอัญมณี คือ การนับหนึ่งจากการจดทะเบียนการค้า/ทะเบียนพาณิชย์ กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ภายใน 30 วัน นับแต่วันเริ่มประกอบกิจการ จากนั้นก็ยื่นขอมีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร รวมถึงในกรณีที่มีรายได้จากการขายอัญมณีเกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี คุณต้องยื่นจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มกับกรมสรรพากร

ทั้งนี้ หากรายได้ไม่เกินนี้แต่ต้องการเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน และ/หรือต้องการจะนำเข้าวัตถุดิบหรือส่งออกอัญมณี ก็ต้องยื่นขอจดทะเบียนเช่นกัน เพียงเท่านี้คุณก็พร้อมจะทำธุรกิจสวยๆ งามๆ ที่มีมูลค่าผลตอบแทนสูงลิบลิ่วแล้ว

จับธุรกิจนำเข้า “อัญมณี”

ปัจจุบันธุรกิจอัญมณีส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบหรือสินค้าจากต่างประเทศ เนื่องจากแหล่งผลิตในประเทศไทยแทบจะไม่มีแล้ว ดังนั้น ผู้ประกอบธุรกิจอัญมณีส่วนใหญ่จึงต้องศึกษาขั้นตอนในการนำเข้าโดยเริ่มตั้งแต่การลงทะเบียนในระบบพิธีการศุลกากรทางอิเล็กทรอนิกส์แบบไร้เอกสาร (Paperless) ซึ่งลงทะเบียนเฉพาะครั้งแรกเพียงครั้งเดียวเท่านั้น จากนั้นจึงเข้าสู่ขั้นตอนการผ่านพิธีการนำเข้าสินค้า ทางด่านศุลกากร ทั้งทางบก ทางเรือ ทางอากาศ และทางไปรษณีย์ ซึ่งคุณต้องศึกษาเรื่องพิกัดศุลกากรที่เกี่ยวข้องให้ดีเพื่อนำมาคำนวณภาษี เช่น พลอยชนิดต่างๆ เครื่องจักร และอื่นๆ เช่น

  • ความรู้เรื่องพิกัดรัตนชาติและกึ่งรัตนชาติในการประกอบธุรกิจอัญมณี
  • ความรู้อัตราอากรรัตนชาติและกึ่งรัตนชาติในการประกอบธุรกิจอัญมณี
  • ความรู้เกี่ยวกับการนำเข้าเพชร
รายการ พิกัดศุลกากร อัตราอากรขาเข้า
อัญมณี 7103.10.00 ไม่ต้องเสียอากร

**ค้นหาพิกัดอัตราศุลกากรเพิ่มเติมได้ที่ http://igtf.customs.go.th/igtf/th/main_frame.jsp

ทั้งนี้ เจ้าของธุรกิจอัญมณีในฐานะผู้นำเข้าจะต้องจัดทำรายงานภาษีซื้อและรายงานสินค้าและวัตถุดิบ (และ/หรือรายงานสินค้าและวัตถุดิบ สำหรับผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าหรือขายอัญมณี ทองคำขาว ทองขาว เงิน และพาลาเดียม)

จากนั้นเมื่อมีรายได้จากการประกอบธุรกิจนำเข้า เพื่อซื้อมา-ขายไป หรือนำเข้าวัตถุดิบไปผลิตสินค้าจำหน่ายแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือการยื่นแบบภาษีเงินได้ และยื่นแบบภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อให้ธุรกิจอัญมณีของคุณดำเนินไปอย่างถูกต้องและช่วยสร้างรายได้ให้กับประเทศ

เหมืองความรู้

แหล่งวัตถุดิบอัญมณีและเครื่องประดับ

  • เพชรดิบ: แอฟริกาใต้ บอตสวานา คองโก นามิเบีย รัสเซีย ออสเตรเลีย
  • พลอยสี:
    • ทับทิม - พม่า ไทย เวียดนาม ศรีลังกา
    • ไพลิน - แคชเมียร์ พม่า
    • แซฟไฟร์เขียว - ออสเตรเลีย สหรัฐฯ แทนซาเนีย โคลัมเบีย
    • บุษราคัม - ออสเตรเลีย แอฟริกา ศรีลังกา
  • ทองคำ: แอฟริกาใต้ สหรัฐฯ ออสเตรเลีย จีน แคนาดา
  • แร่เงิน: เม็กซิโก เปรู ออสเตรเลีย
  • แพลทินัม: แอฟริกาใต้ รัสเซีย สหรัฐฯ แคนาดา

ที่มา: สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ

**ข้อมูลและเอกสารเพิ่มเติมที่ “นำเข้า”

เข้าสู่ตลาด "อัญมณี"

เมื่อคุณจดทะเบียนธุรกิจ และมีสินค้าในมือซึ่งอาจได้จากการนำเข้าหรือนำมาผ่านกระบวนการเผาและเจียระไนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม รวมถึงการรังสรรค์เป็นเครื่องประดับสวยๆ แล้ว ก็ถึงเวลาที่ "อัญมณี" จะทำเงินให้คุณด้วยการวางจำหน่ายสินค้าที่ทรงคุณค่านี้ในตลาดอัญมณีและเครื่องประดับ

ในขั้นตอนนี้คุณจะมีภาระทางภาษีที่เพิ่มขึ้นมาอีกเล็กน้อยได้แก่ การจัดทำรายงานภาษีซื้อ รายงานภาษีขาย และรายงานสินค้าและวัตถุดิบ (และ/หรือรายงานสินค้าและวัตถุดิบ สำหรับผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าหรือขายอัญมณี ทองคำขาว ทองขาว เงิน และพาลาเดียม) รวมถึงการชำระภาษีเงินได้ ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อให้ธุรกิจของคุณดำเนินไปอย่างถูกต้องนั่นเอง

สำหรับผู้ประกอบการที่ขายสินค้าจนมีรายได้มากกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี มีหน้าที่ต้องยื่นเสียภาษีมูลค่าเพิ่มโดยคำนวณภาษีที่ต้องเสียจาก ภาษีขาย หักด้วย ภาษีซื้อ

 

  • ภาษีเงินได้ เมื่อมีรายได้การขายอัญมณี ทั้งขายในประเทศและส่งออกต่างประเทศ ผู้ประกอบการมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้ตามรูปแบบธุรกิจ คือ บุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล

เหมืองความรู้

การยกเว้นภาษีอากร "อัญมณี"

เพื่อสนับสนุนและผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าและการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับของโลก รัฐจึงได้ให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาซึ่งมิใช่ห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ที่มีรายได้จากการขาย

  • พลอย ทับทิม มรกต บุษราคัม โกเมน โอปอล นิล เพทาย ไพฑูรย์ หยก และอัญมณีที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน (เฉพาะที่ยังมิได้เจียระไน แต่ไม่รวมถึงสิ่งทำเทียมวัตถุดังกล่าวหรือที่ทำขึ้นใหม่)
  • เพชร ไข่มุก และสิ่งทำเทียมเพชรหรือไข่มุกหรือที่ทำขึ้นใหม่

และได้ถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายไว้แล้วตามอัตราที่กฎหมายกำหนด เมื่อถึงกำหนดยื่นรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำรายได้จากการขายอัญมณีดังกล่าวมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้

  • ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ในกระบวนการผลิตอัญมณี ต้องมีการว่าจ้างแรงงาน เช่น ช่างเจียระไน พนักงานขาย กระบวนการด้านภาษีที่ต้องดำเนินการในขั้นตอนนี้ คือ เมื่อคุณจ่ายเงินเดือน ค่าจ้าง และสวัสดิการให้กับพนักงาน ลูกจ้าง หรือคนงาน ต้องมีการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ทุกครั้ง
  • ภาษีมูลค่าเพิ่ม ในการตั้งราคาขายสินค้า คุณอาจมีการบวกภาษีมูลค่าเพิ่มเข้าไปได้ ซึ่งลูกค้าของคุณจะกลายเป็นผู้เสียภาษีนี้แทน แต่ที่สำคัญคือคุณต้อง ออกใบกำกับภาษี หรือบิลเงินสดให้ลูกค้าเก็บไว้เป็นหลักฐานด้วย

ทั้งนี้ คุณสามารถยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีต่อกรมสรรพากร ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา ในเขตท้องที่ หรือง่ายๆ เพียงปลายนิ้ว Click

**ข้อมูลและเอกสารเพิ่มเติมที่ “ผลิต” “จำหน่าย”

ส่งออก “อัญมณี” สร้างมูลค่าเพิ่มในต่างแดน

นอกเหนือจากการทำรายได้ด้วยการวางจำหน่ายในประเทศแล้ว ตลาดส่งออกก็ทำเงินให้กับธุรกิจนี้ไม่น้อย โดยประเทศไทยมีตลาดส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง เบลเยียม อิสราเอล และสหราชอาณาจักร

ซึ่งในขั้นตอนการส่งออกนี้ หากคุณเป็นผู้ประกอบการผลิต และ/หรือนำเข้าสินค้าหรือวัตถุดิบเพื่อทำธุรกิจอยู่แล้ว แสดงว่าคุณได้ผ่านขั้นตอนทางภาษีเบื้องต้นที่เกี่ยวกับกรมสรรพากร และผ่านพิธีการลงทะเบียนเป็นผู้นำเข้า-ส่งออกกับกรมศุลกากรมาแล้ว ดังนั้น... ผ่านขั้นตอนนี้ไปได้เลย

แต่หากคุณไม่เคยนำเข้าสินค้าใดๆ คุณสามารถเริ่มต้นได้ด้วยการลงทะเบียนขอเป็นผู้ผ่านพิธีการศุลกากรแบบ Paperless จากนั้นเข้าสู่พิธีการส่งออกสินค้าได้เลย โดยต้องทำการศึกษาพิกัดศุลกากรสินค้าขาออกที่เกี่ยวกับอัญมณีให้ดี และที่สำคัญต้องไม่ลืมจัดทำรายงานภาษีซื้อ รายงานภาษีขาย และรายงานสินค้าและวัตถุดิบ พร้อมทั้งยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้ เพื่อช่วยกันนำเงินกลับมาพัฒนาประเทศ

ข่าวดีภาษีน่ารู้

สำหรับผู้ประกอบการที่เป็นวิสาหกิจชุมชน หรือ SMEs จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเป็นกรณีพิเศษ เพื่อช่วยกระตุ้นและส่งเสริมการดำเนินธุรกิจรายย่อยในอีกทางหนึ่ง

ติดตามได้ที่ "คู่มือภาษีสำหรับวิสาหกิจชุมชน"

** สิทธิประโยชน์ทางภาษีของธุรกิจ SMEs

**ข้อมูลและเอกสารเพิ่มเติมที่ "ส่งออก"

ทำตาม "หน้าที่" ช่วยกัน "เสียภาษี" เพื่อพัฒนาประเทศ

เอกสารที่เกี่ยวข้อง

ข้อมูลภาษีสินค้า อื่นๆ