คลินิกภาษีเครื่องถมและเครื่องเงินลงยา

“เครื่องถมและเครื่องเงินลงยา” เป็นงานประณีตศิลป์ชั้นสูงอีกประเภทหนึ่งที่คนไทยรู้จักมาเป็นเวลานานแล้ว เพราะปรากฏในพงศาวดารว่า เครื่องถมนี้นับเป็นหนึ่งในเครื่องราชูปโภคของไทยตั้งแต่ครั้งสมเด็จพระบรม ไตรโลกนาถ และยังเป็นเครื่องราชบรรณาการอีกอย่างหนึ่งด้วย

นับถึงปัจจุบันด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ได้โปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟูวิชาช่างแขนงนี้ขึ้นมาใหม่อีกครั้ง เพราะทรงเกรงว่าครูช่างถมจะสูญสิ้นไป จนมีช่างผู้สืบต่อถึงขั้นถ่ายทอดให้กับคนรุ่นต่อไปได้อย่างภาคภูมิ อีกทั้งเครื่องถมยังกลับมาได้รับความนิยมอย่างสูงและสร้างรายได้ให้แก่ผู้ สืบสานงานศิลป์นี้อย่างมาก

ดาวน์โหลด

PDF

เปิดใน

Flipbook

ให้คะแนนสินค้านี้

นำเข้า ผลิตและจำหน่าย ส่งออก
จดทะเบียน: สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน นิติบุคคล หรือกลุ่มบุคคลอื่นๆ
ขอมีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร
จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (กรณีมีรายได้จากการสินค้าขายเกิน 1.8 ล้านบาท/ปี)
ลงทะเบียน Paperless ออกใบกำกับภาษี
(กรณีเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม)
ลงทะเบียน Paperless
ขั้นตอนพิธีการนำเข้า จัดทำรายงานภาษี
(กรณีเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม)
ขั้นตอนพิธีการส่งออก
ยื่นขอยกเว้นภาษี
(กรณีนำเข้าเงิน ที่ยังไม่ได้ขึ้นเป็นรูปพรรณ)
ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ ยื่นขอยกเว้น/ขอคืนภาษี
จัดทำรายงานภาษี ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม
(กรณีเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม)
จัดทำรายงานภาษี
ยื่นแบบภาษีเงินได้   ยื่นแบบภาษีเงินได้
ยื่นแบบภาษีมูลค่าเพิ่ม   ยื่นแบบภาษีมูลค่าเพิ่ม

“เครื่องถมและเครื่องเงินลงยา” ภูมิปัญญาสร้างมูลค่า

จากองค์ความรู้เชิงช่างที่ได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่โปรดให้นำช่างชาวนครศรีธรรมราชมาเป็นครูสอนสมาชิกศูนย์ศิลปาชีพ จนทำให้เครื่องถมและเครื่องเงินลงยายังคงทำหน้าที่ถ่ายทอดเอกลักษณ์ของชาติจากรุ่นสู่รุ่น และกลายเป็นผลิตภัณฑ์ทรงคุณค่า เป็นที่ต้องการของชาวไทยและชาวต่างชาติ สร้างรายได้ให้กับช่างฝีมือและผู้รักในงานหัตถศิลป์แขนงนี้

หากคุณเป็นหนึ่งในผู้ที่ต้องการสืบสานงานศิลป์ด้วยการทำธุรกิจ "เครื่องถมและเครื่องเงินลงยา" เพื่อนำผลิตภัณฑ์ทรงคุณค่านี้ออกสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ ขอแนะนำให้คุณลองศึกษาแนวทางทำธุรกิจเบื้องต้นที่จะทำให้คุณเริ่มต้นธุรกิจอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งยังมีส่วนช่วยพัฒนาประเทศด้วยการชำระภาษีอย่างง่ายๆ

เรื่องประดับความรู้

ลักษณะเด่นของ “เครื่องถมนคร” ของช่างฝีมือชาวนครศรีธรรมราช สามารถแบ่งออกได้ 2 ลักษณะที่สำคัญ ได้แก่

- การแกะสลักลวดลาย จะใช้วิธีเขียนร่างลวดลายลงในรูปพรรณของเนื้อเงิน แล้วใช้ค้อนและสิ่วสลักตามลวดลายที่ร่างเอาไว้ วิธีการนี้เป็นการย้ำเนื้อโลหะให้ลึกลงไปเท่านั้น ไม่ได้สูญเสียเนื้อเงินไปแต่อย่างใด และจะมีรอยสลักอยู่ทางด้านหลังของรูปพรรณ ซึ่งจะต้องใช้ฝีมือของช่างเป็นอย่างมากเพื่อที่จะให้ผลงานออกมาดีและมีคุณค่า

- เนื้อยาถม เนื้อยาถมที่ดีจะต้องเป็นสีดำมัน เวลาลงเนื้อยาถมจะติดแน่น ไม่มีรูพรุน หรือที่เรียกกันว่า “ตามด” ยาถมเป็นโลหะผสมระหว่างเงิน ทองแดง ตะกั่ว และกำมะถัน ซึ่งเป็นตัวทำให้เกิดสีดำ สูตรในการผสมไม่ตายตัว ขึ้นอยู่ความชำนาญและประสบการณ์ของช่างแต่ละคน แม้ว่ามีตำราว่าต้องใช้เนื้อโลหะเป็นเท่าไร แต่ก็ไม่แน่เสมอไปว่าเมื่อผสมตามนั้นแล้วจะได้ยาถมที่ดี

สืบสานงานศิลป์... เริ่มธุรกิจ “เครื่องถมและเครื่องเงินลงยา”

การทำธุรกิจ “เครื่องถมและเครื่องเงินลงยา” ในปัจจุบัน สิ่งที่ยากคือการเสาะหาช่างฝีมือที่จะมาแกะสลักลวดลายและลงยาถมให้เครื่องถมมีลวดลายเด่นงามตระการตา แต่สำหรับจุดเริ่มต้นในแง่ของการประกอบธุรกิจอย่างถูกต้องตามกฎหมายนั้น คุณสามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยการจดทะเบียนธุรกิจตามรูปแบบของการดำเนินกิจการ เช่น เป็นกิจการที่ดำเนินการโดยบุคคลธรรมดา กลุ่มบุคคล นิติบุคคล หรือวิสาหกิจชุมชน

การจดทะเบียนพาณิชย์ตามประเภทธุรกิจ
บุคคลธรรมดา จดทะเบียนได้ที่ อบต./เทศบาล พาณิชย์จังหวัด
นิติบุคคล จดทะเบียนได้ที่ สำนักพัฒนาธุรกิจ พาณิชย์จังหวัด
วิสาหกิจชุมชน จดทะเบียนได้ที่ กรมส่งเสริมการเกษตร / เกษตรจังหวัด
สหกรณ์ จดทะเบียนได้ที่ สหกรณ์จังหวัด พาณิชย์จังหวัด
SMEs จดทะเบียนได้ที่ สำนักพัฒนาธุรกิจ พาณิชย์จังหวัด
กลุ่ม OTOP จดทะเบียนได้ที่ ที่ว่าการอำเภอ หรือสำนักงานเขต

จากนั้นยื่น ขอมีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร รวมถึง จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม กับกรมสรรพากร ซึ่งการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มนี้จะกระทำในกรณีที่คุณมีรายได้จากการขายเครื่องถมและเครื่องเงินลงยา เกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี (หากไม่เกินก็ขอจดทะเบียนได้)

นอกจากนี้ คุณยังต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในกรณีที่คุณต้องการนำเข้า-ส่งออกสินค้าหรือวัตถุดิบที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจของคุณด้วย ซึ่งไม่ว่าคุณจะจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในจุดประสงค์ใด เมื่อเริ่มดำเนินธุรกิจจะต้อง จัดทำรายงานภาษี เพื่อใช้ประกอบการยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มกับกรมสรรพากรด้วย

เรื่องประดับความรู้

รายงานที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มต้องจัดทำ คือ
  • รายงานภาษีซื้อ เอกสารหลักฐานประกอบการลงรายงานคือ “ใบกำกับภาษี”
  • รายงานภาษีขาย เอกสารหลักฐานประกอบการลงรายงานคือ “สำเนาใบกำกับภาษี”
  • รายงานสินค้าและวัตถุดิบ เอกสารหลักฐานประกอบการลงรายงานคือ “สำเนาใบกำกับภาษี และใบกำกับภาษี”

โดยผู้ประกอบการต้องลงรายการในรายงานภาษีภายใน 3 วันทำการนับแต่วันที่ได้มาหรือจำหน่ายออกไปซึ่งสินค้าหรือบริการ

นับเงินจากธุรกิจ “เครื่องถมและเครื่องเงินลงยา”

เมื่อคุณดำเนินการตามขั้นตอนเริ่มธุรกิจและขอมีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรเรียบร้อยแล้ว ก็ถึงเวลาที่ช่างฝีมือของคุณจะแสดงฝีมือทำเครื่องถมและเครื่องเงินลงยาที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ และนำออกจำหน่ายทำรายได้ให้กับธุรกิจ

เรื่องประดับความรู้

ขั้นตอนการผลิตเครื่องถม และเครื่องเงินลงยา

1. การทำน้ำยาถม: ช่างถมจะต้องหลอมน้ำยาหรือที่เรียกกันว่า “กุมน้ำยา” ก่อน ตัวยาถมมีส่วนผสมของโลหะ 3 ชนิด คือ ทองแดงบริสุทธิ์ 1 ส่วน ตะกั่วอย่างดี 1 ส่วน และเงินแท้ 1 ส่วน มาผสมกัน หลอมจนเนื้อโลหะผสมเข้ากันดี อัตราส่วนผสมและเวลาที่หลอมของช่างแต่ละคน จะแตกต่างไปตามสูตรลับที่เป็นมรดกตกทอด หรือได้จากตำราโบราณที่จะต้องตีความหมายเอาเอง เช่น “วัว 5 ม้า 6 บริสุทธิ์ 4 ผสมกันแล้วซัดด้วยกำมะถัน ได้ยาถมแล”

เมื่อใช้เวลาหลอมพอสมควร แล้วเปิดฝาเบ้า ซัดด้วยน้ำกำมะถันเหลืองจนเห็นว่าน้ำยาขึ้นสีดำใส มีคุณสมบัติพิเศษ ไม่มีฟอง ไม่มีฝ้า แล้วจึงเทลงในเบ้าจาน ทิ้งไว้จนแห้ง รอการนำไปถมต่อไป

ยาถมมีลักษณะแข็งสีดำเป็นนิลขึ้นเงามันเคลือบสีน้ำเงินอ่อนๆ เนื้อคล้ายโลหะชนิดหนึ่ง แต่ทุบบดให้ละเอียดเป็นผงได้ ทำเป็นแท่งๆ ไว้ ตามแท่งมีร่องยาวๆ ไม่ขาดตอน จึงนับว่าเป็นยาถมที่ดี เมื่อเวลาจะใช้ต้องนำมาบดทุบให้ละเอียดก่อน แล้วคลุกด้วยน้ำประสานทองจนเป็นน้ำยาถมสำหรับนำไปลงถม

2. การทำรูปพรรณ: นำแผ่นเงินมาทำเป็นรูปร่างตามต้องการ อาจเป็นภาชนะ เช่น ขันน้ำ พานใส่ของ หรือเครื่องประดับ เช่น กำไล เข็มกลัด

3. การแกะสลักลวดลาย:

  • การแกะสลักลวดลาย เริ่มด้วยการใช้หมึกจีนเขียนลวดลายลงบนพื้นเงิน แล้วแกะสลักให้อ่อนช้อยงดงาม
  • การทำถม คือ การลงยาถมลงไปบนพื้นที่เป็นร่องหรือราบต่ำ สีดำมันของยาถมจะทำให้ลวดลายเด่นงาม

ในขั้นตอนนี้คุณมีกระบวนการทางภาษีที่ต้องดำเนินการ ได้แก่ การจัดทำรายงานภาษีซื้อ รายงานภาษีขาย รายงานสินค้าและวัตถุดิบ และแบบรายงานการจัดทำคำร้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับนักท่องเที่ยว (กรณีเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม) เพื่อประกอบการยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม และยังต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายกับกรมสรรพากรด้วย

ทั้งนี้ เมื่อคุณผลิตเครื่องถมและเครื่องเงินลงยาออกวางจำหน่าย ภาษีที่เกี่ยวข้องกับรายได้ของคุณ ได้แก่

- ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ในกระบวนการจำหน่ายเครื่องถมและเครื่องเงินลงยานั้น คุณอาจต้องมีการว่าจ้างแรงงาน ช่างเขียน ช่างขึ้นรูป และช่างฝีมืออื่นๆ ลูกจ้างชั่วคราว และ/หรือพนักงานประจำ ฯลฯ กระบวนการด้านภาษีที่ต้องดำเนินการในขั้นตอนนี้คือ เมื่อคุณจ่ายเงินเดือน ค่าจ้าง และสวัสดิการให้กับพนักงาน ลูกจ้าง หรือคนงาน รวมไปถึงการให้บริการ การโฆษณา การและขนส่ง กระบวนการทั้งหมดนี้ต้องมีการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายทุกครั้ง โดยคุณมีหน้าที่หักภาษีและนำส่งต่อกรมสรรพากรภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดจากเดือนที่มีการจ่ายเงินได้

- ภาษีเงินได้ เมื่อมีรายได้จากการขายเครื่องถมและเครื่องเงินลงยา คุณก็มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้ตามรูปแบบธุรกิจ คือ บุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล

เรื่องประดับความรู้

ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจที่ดี คุณสามารถมีส่วนช่วยในการพัฒนาประเทศได้ด้วยการเสียภาษีประจำปี ตามรูปแบบในการจดทะเบียนดังนี้

- ผู้ประกอบการที่เป็นบุคคลธรรมดา ยื่นแบบชำระภาษีปีละ 2 ครั้ง แสดงรายการภาษีเดือนมกราคม-มิถุนายน ยื่นแบบ ภ.ง.ด.94 เสียภาษีภายในเดือนกันยายนในแต่ละปี และแสดงรายการภาษีเดือนมกราคม-ธันวาคม ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 เสียภาษีภายในเดือนมีนาคมปีถัดไป

- ผู้ประกอบการที่เป็นนิติบุคคล ยื่นแบบชำระภาษีปีละ 2 ครั้ง

  1. ภาษีเงินได้ครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี ยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 เสียภาษีภายใน 2 เดือน นับแต่วันครบ 6 เดือนของรอบระยะเวลาบัญชี
  2. ภาษีเงินได้สิ้นรอบระยะเวลาบัญชี ยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 เสียภาษีภายใน 150 วัน นับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี

- ภาษีมูลค่าเพิ่ม หากคุณต้องซื้อวัตถุดิบ รวมทั้งวัสดุอุปกรณ์อื่นๆ ที่เกี่ยวกับกระบวนผลิต ราคาที่คุณซื้อจะบวกภาษีมูลค่าเพิ่มมาแล้ว เท่ากับว่าคุณเป็นผู้เสียภาษีในส่วนนี้แล้ว และเมื่อถึงเวลาจำหน่ายเครื่องถมและเครื่องเงินลงยา คุณสามารถตั้งราคาขายโดยบวกภาษีมูลค่าเพิ่มเข้าไปได้ ซึ่งลูกค้าของคุณจะกลายเป็นผู้เสียภาษีนี้แทน แต่คุณต้องออกใบกำกับภาษีหรือบิลเงินสดให้ลูกค้าไว้เป็นหลักฐานด้วย ซึ่งคุณต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ก่อน เพราะผู้มีสิทธิ์ออกใบกำกับภาษีได้ ก็คือผู้ที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเท่านั้น

สำหรับกรณีที่เครื่องถมและเครื่องเงินลงยา สร้างรายได้จากยอดขายให้คุณมากกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี คุณมีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยคำนวณภาษีที่ต้องเสียจากภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อ

โดยคุณสามารถยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีต่อกรมสรรพากร ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา ในเขตท้องที่ หรือง่ายๆ เพียงปลายนิ้ว Click

 

**ข้อมูลและเอกสารเพิ่มเติมที่ ผลิต จำหน่าย

เรียนรู้ขั้นตอน “การนำเข้า”

ในการทำธุรกิจเครื่องถมและเครื่องเงินลงยานั้น ในบางครั้งคุณอาจต้องศึกษาขั้นตอนการนำเข้า เพื่อนำเข้าวัตถุดิบหรือสินค้าสำเร็จรูปบางอย่าง ซึ่งคุณสามารถเริ่มกระบวนการนำเข้าได้โดยการลงทะเบียนในระบบพิธีการศุลกากรทางอิเล็กทรอนิกส์แบบไร้เอกสาร (Paperless) โดยลงทะเบียนเฉพาะครั้งแรกเพียงครั้งเดียวเท่านั้น จากนั้นจึงเข้าสู่ขั้นตอนการผ่านพิธีการนำเข้าสินค้า ซึ่งต้องศึกษาพิกัดอัตราศุลกากรสินค้าที่คุณจะนำเข้าให้ดี เช่น เงินที่ยังไม่ได้ขึ้นเป็นรูปพรรณ เครื่องจักร ฯลฯ เพื่อประโยชน์ในการคำนวณภาษีหรือขอยกเว้นอัตราอากรขาเข้า

รายการ พิกัดศุลกากร อัตราอากรขาเข้า
ทำด้วยทองแดง ของใช้ตามบ้านเรือน 7418.10.90 20%
ทำด้วยดีบุก ของใช้ตามบ้านเรือน 8007.00.92 20%
เครื่องใช้ทำด้วยทองแดงลงหิน หรือทองเหลือง 8215.99.00 30%

พิกัดศุลกากรขาเข้าผลิตภัณฑ์โครงการคลินิกภาษีกระทรวงการคลัง คลิก

ทั้งนี้ ในฐานะที่คุณเป็นผู้นำเข้า จะต้องจัดทำรายงานภาษีซื้อ และรายงานสินค้าและวัตถุดิบเพื่อประกอบการยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม

จากนั้นเมื่อมีรายได้จากการประกอบธุรกิจนำเข้า เพื่อซื้อมา-ขายไป หรือนำเข้าวัตถุดิบไปผลิตสินค้าจำหน่ายแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือการยื่นแบบภาษีเงินได้ ภาษีหัก ณ ที่จ่าย และยื่นแบบภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อให้ธุรกิจคุณดำเนินไปอย่างถูกต้องและช่วยนำรายได้ไปพัฒนาประเทศ

เรื่องประดับความรู้

การชำระภาษีอากรของเครื่องถมและเครื่องเงินลงยา

- กรณีวัตถุดิบ “เม็ดเงินนำเข้า” มาผลิตเป็นเครื่องเงิน เสียพิกัด 7106.91.00 ได้รับการยกเว้นอากรนำเข้า แต่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

- กรณีการนำเข้า “เงิน” เฉพาะที่ยังมิได้ประกอบขึ้นเป็นของรูปพรรณ ของผู้ประกอบการจดทะเบียน ที่จะได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ลงวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2546 โดยผู้ประกอบการจะต้องยื่นแบบ ภพ.01.5 ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่

**ข้อมูลและเอกสารเพิ่มเติมที่ นำเข้า


ส่งออก “เครื่องถมและเครื่องเงินลงยา” สู่ตลาดโลก

ด้วยเอกลักษณ์และความสวยงามของเครื่องถมและเครื่องเงินลงยาซึ่งเป็นที่ต้องการทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ตลาดส่งออกจึงเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะเพิ่มโอกาสในการทำธุรกิจของคุณ โดยคุณสามารถเริ่มต้นธุรกิจส่งออกได้ด้วยการลงทะเบียนขอเป็นผู้ผ่านพิธีการศุลกากรแบบ Paperless (หากเคยลงทะเบียนนำเข้าหรือเป็นผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออกกับกรมศุลกากรอยู่แล้วไม่ต้องลงทะเบียนอีก)

จากนั้นเข้าสู่พิธีการส่งออกสินค้า แต่ที่สำคัญเมื่อมีรายได้จากตลาดต่างประเทศกลับเข้ามาแล้ว คุณต้องไม่ลืมจัดทำรายงานภาษีซื้อ รายงานภาษีขาย และรายงานสินค้าและวัตถุดิบ พร้อมทั้งยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้ เพื่อช่วยกันนำเงินส่วนหนึ่งไปพัฒนาประเทศ

เรื่องประดับความรู้

ผู้ส่งออกเครื่องถม/เครื่องเงินสามารถขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากร ในอัตราร้อยละ 0.10 ของราคาส่งออก

**ข้อมูลและเอกสารเพิ่มเติมที่ "ส่งออก"

ข่าวดี... ภาษีน่ารู้

สำหรับผู้ประกอบการที่เป็นวิสาหกิจชุมชน หรือ SMEsจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเป็นกรณีพิเศษ เพื่อช่วยกระตุ้นและส่งเสริมการดำเนินธุรกิจรายย่อยในอีกทางหนึ่ง

ติดตามได้ที่ "คู่มือภาษีสำหรับวิสาหกิจชุมชน"

** สิทธิประโยชน์ทางภาษี ของธุรกิจ SMEs

ทำตาม “หน้าที่” ช่วยกันเสียภาษีเพื่อพัฒนาประเทศ

เอกสารที่เกี่ยวข้อง

ข้อมูลภาษีสินค้า อื่นๆ