คลินิกภาษี OTOP

"OTOP" เป็นธุรกิจที่เริ่มต้นจากภูมิปัญญาท้องถิ่น และกำลังเติบโตก้าวสู่การส่งออกอย่างเข้มแข็ง ด้วยความโดดเด่น ของผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์จากความคิดสร้างสรรค์ของคนไทย

ปัจจุบัน "OTOP" เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอย่างแพร่หลาย มีผลิตภัณฑ์กว่า 70,000 รายการจาก ทั่วประเทศ และมีผู้ประกอบการหลายรายที่กำลังพัฒนาสู่การแข่งขันและเป็นดาวเด่นในตลาด สากล

หากคุณกำลังวางแผนที่จะนำภูมิปัญญามาสร้างมูลค่าในแบบของ "OTOP" ชั้นนำ ต้องไม่ลืมที่จะทำความเข้าใจเรื่อง "ภาษี" เพื่อให้ธุรกิจของคุณเติบโตอย่างถูกต้องตามกฎหมาย    และไม่สูญเสียสิทธิประโยชน์ที่   "คุณพึงจะได้รับ"

ดาวน์โหลด

PDF

เปิดใน

Flipbook

ให้คะแนนสินค้านี้

เป็นผู้ผลิต OTOP ชั้นนำ...คุณก็ทำได้

อะไรเอ่ย?... "OTOP"

OTOP คือธุรกิจที่เติบโตจากโครงการ "หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์" (ONE TAMBON ONE PRODUCT) โดยมีการแบ่งสินค้า OTOP ออกเป็น 5 ประเภทหลัก ได้แก่

อาหาร เครื่องดื่ม ผ้า/เครื่องแต่งกาย ของใช้/ของตกแต่ง/ของที่ระลึก สมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร

OTOP นั้นถือเป็นธุรกิจหนึ่งในวิสาหกิจขนาดย่อม ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากภาครัฐมากมาย และการเริ่มต้นธุรกิจ OTOP ก็ไม่ใช่เรื่องยาก ถ้าพร้อมแล้ว... ลุยกันเลย

เข้าใจ "OTOP ของคุณ"

ผู้ประกอบการธุรกิจ OTOP ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชุมชน เจ้าของเพียงคนเดียว หรือผู้ประกอบการขาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) หรือวิสาหกิจชุมชน (SMCE) ต้องรู้ว่าสินค้า OTOP ที่ตนเองจะดำเนินการผลิตนั้น เป็นสินค้าประเภทชุมชน หรือประเภท SMEs เพราะคุณต้องนำข้อมูลตรงนี้ไปขอ จดทะเบียน OTOP กับสำนักงานพัฒนาชุมชน จากนั้นต้อง ขอมีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร

รวมถึง จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ของกรมสรรพากรเมื่อคุณมีรายได้จากการขายสินค้าในธุรกิจ OTOP เกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี (หรือรายได้ไม่เกินนี้แต่ต้องการเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน และ/หรือต้องการนำเข้า-ส่งออกสินค้า OTOP ก็ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเช่นกัน)

เรื่องนี้ต้องขยาย

มาจดทะเบียน OTOP กันเถอะ

  • ผู้ประกอบการใน ‘กรุงเทพมหานคร’ จดทะเบียน OTOP ได้ที่... สำนักงานเขต
  • ผู้ประกอบการ ‘ต่างจังหวัด’ จดทะเบียน OTOP ได้ที่... สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอ (ภูมิลำเนาของผู้ประกอบการ หรือทำการผลิตสินค้าในพื้นที่นั้นๆ)

คัดสรรวัตถุดิบ

OTOP เป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน ริเริ่มจากการนำทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาผลิตสินค้าคุณภาพ แต่สินค้าบางชนิดอาจต้องมีการนำเข้าวัตถุดิบมาเป็นส่วนผสม ดังนั้น ผู้ประกอบการควรเรียนรู้ขั้นตอนการนำเข้าวัตถุดิบก่อน โดยต้องมี การลงทะเบียนในระบบพิธีการศุลกากรทางอิเล็กทรอนิกส์แบบไร้เอกสาร (Paperless) เพื่อขอเป็นผู้ผ่านพิธีการศุลกากร ทั้งยังต้องผ่าน พิธีการนำเข้าสินค้า โดยศึกษาพิกัดศุลกากรสินค้าที่จะนำเข้าให้ดีเพื่อประโยชน์ในการคำนวณอัตราอากรขาเข้าที่คุณต้องจ่าย ณ ด่านศุลกากรทางบก ทางเรือ ทางอากาศ หรือทางไปรษณีย์ เพื่อนำเข้าวัตถุดิบเข้ามาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งคุณจะต้องจัดทำรายงานภาษีซื้อและรายงานสินค้าและวัตถุดิบ เพื่อประกอบการยื่นแบบแสดงรายการภาษีด้วย

**ค้นหาพิกัดอัตราศุลกากรเพิ่มเติมได้ที่ http://igtf.customs.go.th/igtf/th/main_frame.jsp

**ข้อมูลและเอกสารเพิ่มเติมที่ “นำเข้า”

ผลิตและจำหน่าย

ก่อนลงมือผลิตคุณต้องรู้ข้อจำกัดในการผลิตสินค้า OTOP ก่อน คือจะต้องไม่เป็นสินค้าเลียนแบบ ดัดแปลง นำเข้า หรือนำเข้ามาดัดแปลง หรือละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา จะต้องไม่ใช้วัตถุดิบที่ผิดกฎหมาย ไม่ก่ออันตรายอย่างร้ายแรงต่อชุมชนหรือสิ่งแวดล้อม ไม่ขัดต่อประเพณีวัฒนธรรมไทย และในกรณีเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีกฎหมายบังคับจะต้องได้รับอนุญาตผลิตอย่างถูกต้อง พร้อมกันนี้คุณจะต้องจัดทำรายงานภาษีซื้อ รายงานภาษีขาย และรายงานสินค้าและวัตถุดิบด้วย

เก็บมาฝาก

แอบมอง OTOP 5 ดาว

แต่ละชุมชน ตำบล ท้องถิ่นของประเทศไทยนั้น มีผลิตภัณฑ์ OTOP มากมาย ซึ่งบางผลิตภัณฑ์มีคณภาพคับแก้ว จนเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางทั้งภายในและภายนอกประเทศ เช่น

  • ภาคเหนือ: กำไลไม้เพนท์ดอกชบา ผ้าทอพื้นบ้านกะเหรี่ยง ดอกไม้ประดิษฐ์จากดินไทย ฯลฯ
  • ภาคกลาง: กุนเชียงปลา หัตถกรรมจักสานผักตบชวา ผลิตภัณฑ์ไม้มะม่วง ฯลฯ
  • ภาคอีสาน: ผ้าม่านลายขิดทอมือย้อมสีธรรมชาติ ผ้าไหมมัดหมี่ หม่ำเนื้อวัว ฯลฯ
  • ภาคใต้: ขนมขี้มอด ปลาเค็มกางมุ้ง ผ้าบาติก ฯลฯ
  • กรุงเทพมหานคร: เปลือกไข่วิจิตรศิลป์ ผลิตภัณฑ์ของจิ๋วจากดินไทย กระเป๋าผ้าด้นมือ ฯลฯ

อ๊ะๆ... ไม่ต้องอิจฉา แค่ตั้งใจ OTOP ของคุณก็ติดดาวได้

เมื่อมีรายได้เกิดขึ้นจากการขายสินค้า OTOP ผู้ประกอบการทุกคนต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีพร้อมเสียภาษีที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ ดังนี้

  • ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ในกระบวนการผลิตและจำหน่ายสินค้า OTOP นั้น คุณอาจต้องมีการว่าจ้างแรงงาน ลูกจ้างชั่วคราว และ/หรือพนักงานประจำ ฯลฯ กระบวนการด้านภาษีที่ต้องดำเนินการในขั้นตอนนี้คือ เมื่อคุณจ่ายเงินเดือน ค่าจ้าง และสวัสดิการให้กับพนักงาน ลูกจ้าง หรือคนงาน รวมไปถึงการให้บริการ การโฆษณา การและขนส่ง กระบวนการทั้งหมดนี้ต้องมีการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายทุกครั้ง โดยคุณมีหน้าที่หักภาษีและนำส่งต่อกรมสรรพากรภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดจากเดือนที่มีการจ่ายเงินได้
  • ภาษีเงินได้ เมื่อมีรายได้การขายสินค้า OTOP ทั้งในประเทศและส่งออกต่างประเทศ คุณมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้ตามรูปแบบธุรกิจ คือ บุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล

เรื่องน่ารู้คู่ภาษี

คุณต้องทำหน้าที่เป็นพลเมืองที่ดี เสียภาษีประจำปี ตามรูปแบบในการจดทะเบียนดังนี้

  • ผู้ประกอบการที่เป็นบุคคลธรรมดา ยื่นแบบชำระภาษีปีละ 2 ครั้ง แสดงรายการภาษีเดือนมกราคม-มิถุนายน ยื่นแบบ ภ.ง.ด.94 เสียภาษีภายในเดือนกันยายนในแต่ละปี และแสดงรายการภาษีเดือนมกราคม-ธันวาคม ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 เสียภาษีภายในเดือนมีนาคมปีถัดไป
  • ผู้ประกอบการที่เป็นนิติบุคคล ยื่นแบบชำระภาษีปีละ 2 ครั้ง
    1. ภาษีเงินได้ครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี ยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 เสียภาษีภายใน 2 เดือน นับแต่วันครบ 6 เดือนของรอบระยะเวลาบัญชี
    2. ภาษีเงินได้สิ้นรอบระยะเวลาบัญชี ยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 เสียภาษีภายใน 150 วัน นับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี

  • ภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากในขั้นตอนการผลิตสินค้าคุณได้ซื้อวัตถุดิบบางอย่างมา และสิ่งที่คุณซื้อจะบวกภาษีมูลค่าเพิ่มมาด้วย (คุณเป็นผู้รับภาระเสียภาษีส่วนนั้น) ดังนั้น ในการตั้งราคาขายสินค้า OTOP ของคุณ สามารถบวกภาษีมูลค่าเพิ่มเข้าไปได้ ซึ่งลูกค้าของคุณจะกลายเป็นผู้เสียภาษีนี้แทน แต่ที่สำคัญคือคุณต้อง ออกใบกำกับภาษี หรือ บิลเงินสด ให้ลูกค้าเก็บไว้เป็นหลักฐานด้วย

ทั้งนี้ คุณสามารถยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีกับกรมสรรพากรได้ ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาในเขตท้องที่ หรือง่ายๆ เพียงปลายนิ้ว Click

**ข้อมูลและเอกสารเพิ่มเติมที่ "ผลิต" “จำหน่าย”

ก้าวสู่สากล

ผู้ประกอบการ OTOP บางคน ไม่มองการจำหน่ายในประเทศอย่างเดียว แต่จะหาลู่ทางการส่งออกสินค้าไปเจาะตลาดต่างประเทศ ซึ่งหากคุณลงทะเบียนขอเป็นผู้ผ่านพิธีการศุลกากร แบบ Paperless มาแล้วก็เข้าสู่ขั้นตอน การผ่านพิธีการส่งออกสินค้า ได้เลย

อ้อ... อย่าลืมจัดทำรายงานภาษีซื้อ รายงานภาษีขาย รายงานสินค้าและวัตถุดิบ และยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้นะ

**ข้อมูลและเอกสารเพิ่มเติมที่ “ส่งออก”

รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีธุรกิจ "OTOP"

"OTOP" ถือเป็นธุรกิจ SMEs ที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ดังนั้น ผู้ประกอบการที่ก้าวเข้ามาในธุรกิจนี้จึงได้รับสิทธิประโยชน์มากมาย โดยกรมสรรพากรได้ส่งเสริมและสนับสนุนการให้ประโยชน์ทางธุรกิจด้วยวิธีการ เช่น

  • ยกเว้นภาษี เพื่อบรรเทาภาระหรือสนับสนุนส่งเสริมธุรกิจต่างๆ
  • ลดอัตราภาษี
  • หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมในอัตราเร่ง เมื่อมีการซื้อทรัพย์สินมาใช้งานเกิน 1 รอบระยะเวลาบัญชี คุณสามารถหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาตามกฎหมายได้
  • รายจ่ายที่หักได้มากกว่า 1 เท่า โดยปกติคุณสามารถนำรายจ่ายที่จ่ายเพื่อกิจการมาหักเป็นรายจ่ายได้เท่าที่จ่ายไป แต่บางกรณีกฎหมายก็ให้หักมากกว่าที่จ่ายไป

โดยรัฐก็เห็นความสำคัญของการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตสินค้าหรือให้บริการ เพื่อการประหยัดพลังงาน ส่งเสริมสนับสนุนธุรกิจหรือนโยบายด้านสังคม จึงยอมให้คุณหักรายจ่ายได้มากกว่าที่จ่ายจริง

มีรายได้ครั้งหน้า...อย่าลืมเสียภาษีเพื่อพัฒนาประเทศ

** สิทธิประโยชน์ทางภาษีของธุรกิจ SMEs

เอกสารที่เกี่ยวข้อง

ข้อมูลภาษีสินค้า อื่นๆ